แนะนำวิธีเลือกสเปคโน้ตบุ๊คในปี 2023 เทรนด์ปีนี้ไปถึงไหนแล้ว จ่ายซื้อราคานี้ได้สเปคเท่าไหร่ (ทั้งเกมมิ่งและทำงาน)

งาน CES 2023 หรืออีเวนต์ใหญ่สุดประจำปีของฝั่งพีซีได้จบไปแล้วสักพัก เช่นเคยคือเป็นต้นศักราชที่เหล่าเทคยักษ์ใหญ่พากันนำสินค้าเจนใหม่ของตัวเองมาเรียงแถวเปิดตัวเพียบ โดยเฉพาะ 3 ค่ายหลักอย่าง Intel, AMD และ NVIDIA ที่ก็ยังคงขนทัพซีพียูและการ์ดจอมากมายหลายรุ่น มาโชว์พลังดิบและความแรงกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเป็นตัวกำหนดทิศทางของโลกพีซีในปีนี้ตลอดทั้งปี

เช่นเดียวกับฝั่งผู้ผลิตพีซีและโน้ตบุ๊คได้แก่ Acer, ASUS, Dell, Lenovo, MSI, HP, Razer และอื่น ๆ ที่ต่างก็เร่งเอาคอมโน้ตบุ๊คซีรีส์ใหม่ตัวเองตามออกมาอวดติด ๆ ด้วยเหมือนกัน ทำให้ได้เห็นสเปคของทั้งรุ่นกลางรุ่นใหญ่หลายรุ่น บางยี่ห้อครบเลย คือไม่ต้องไปรอลุ้นหลังซีพียูการ์ดจอออกมาก่อนแล้วค่อยได้เห็นตามเหมือนในอดีตแล้ว

ดังนั้นวันนี้ทีมงานจึงถือโอกาสจะขอมาสรุปภาพรวมคร่าว ๆ ให้ฟังกันว่า ความน่าสนใจของวงการฮาร์ดแวร์พีซีในปีนี้เค้ามีอะไรบ้าง จะได้ทราบว่าเทรนด์สเปคต่าง ๆ ของคอมฝั่ง Windows ยุคนี้มันไปถึงไหนแล้ว เพื่อไกด์เป็นแนวทางสำหรับการเลือกซื้อโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ในปี 2023 นี้ให้กับทุกคนครับ

 

ซีพียู Intel กลับมานำตลาด แต่การ์ดจอใหม่ยังเงียบกริบ

ถ้าใครตามข่าวมาบ้าง จะรู้ว่าก่อนหน้านี้กระแส Intel ในช่วงซีพียู Gen 8 -10 ไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการลดขนาดซีพียูไม่ได้ และประสิทธิภาพก็ไม่ได้ดีก้าวกระโดดขึ้นจากก่อนหน้ามาก จนถูกฝั่ง AMD ที่ไล่ตามมาตลอดแซงทัน สุดท้ายคนก็อพยพลองย้ายไปใช้ซีพียู Ryzen โน้ตบุ๊คกันเยอะ (แถมติดใจซะด้วย) ทำให้ช่วงนั้นยอดขายโน้ตบุ๊คซีพียู Intel หดหายไประนาวอยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ ซีพียู Intel เริ่มได้ภาพลักษณ์ความนิยมกลับมาอีกครั้ง หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บน Gen 12 ที่เริ่มหันมาใช้สถาปัตยกรรมคอร์แบบไฮบริจด์เป็นครั้งแรก คือใช้แกนเล็กผสมแกนใหญ่ (เลิกเขียน C = จำนวนคอร์ แต่เขียนเป็น P = คอร์ใหญ่ + E คอร์เล็กแทน ข้อดีคือแกนรวมมันดูเยอะ ซึ่งคนชอบสเปคเห็นแล้วคลั่งไคล้ทันที) พร้อมการปรับเปลี่ยนแนวทางที่เน้นแข่งขันที่ประสิทธิภาพมากขึ้น แทนการลดขนาดชิปลงทุก 1-2 ปีเหมือนปีเก่า ๆ จนตอนนี้ถือว่าสามารถแก้มลทินเรื่องนี้ออกไปได้มากแล้ว

ล่าสุดซีพียู Gen 13 บนโน้ตบุ๊คเปิดตัวออกมา มีครบทุกรหัสสำหรับทุกตลาดให้เลือก ได้แก่ รหัส HX, H, P และ U แม้ภาพรวมจะยังคล้าย Gen 12 เหมือนเดิมแบบฝั่งเดสก์ท็อป แต่ปีนี้ประสิทธิภาพก็ก้าวกระโดดขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะรหัส HX ที่เป็นการเอาซีพียูระดับเดสก์ท็อปมายัดลงบนโน้ตบุ๊ค และปัจจุบันก็นับเป็นตระกูลที่ 2 ซึ่งแม้จะออกตามหลังตระกูลแรกติด ๆ แค่ครึ่งปี แต่มีการตีบวกหลายอย่างให้แบบไม่มีกั๊ก ทั้งจำนวนคอร์เธรด และประสิทธิภาพเธรดเดี่ยวเธรดรวม เลยได้ชื่อว่าปีนี้เป็นปีที่ซีพียู Intel มาแรงมาก




 

สาเหตุที่ Intel เน้นซีพียูรหัส HX มากเป็นพิเศษในปีนี้ คาดก็เพื่อต่อกรกับฝั่ง Apple ที่มีซีพียูระดับ M1 Max ออกมาเขย่าโลกก่อนหน้า (ปัจจุบัน M2 Max) ทำให้ต้องออกยาแรงรักษาภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำเดิมไว้ นี่จึงถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างเราสุด ๆ ที่ได้เห็นการแข่งขันอันดุเดือดของโลกซีพียูจากปีที่แล้วลามมาถึงปีนี้จนได้

อย่างไรก็ตาม แม้ฝั่งซีพียูจะขาขึ้น แต่กระแสการ์ดจอ Intel Arc ที่ปูไว้เนิ่น ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้วกลับหายไปแบบเงียบ ๆ สังเกตได้เลยว่าจะยังไม่เห็นโน้ตบุ๊ครุ่นเด่นตัวไหนในปีนี้เลือกใช้เลย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกเพราะพี่เริ่มเข้าตลาดช้าจริง ๆ แถมประสิทธิภาพก็ยังเป็นรองเจนเก่าคู่แข่งอยู่ ตั้งแต่ยังไม่โดนทิ้งห่างไปไกลด้วยเจนใหม่รอบนี้ด้วยซ้ำ

ดังนั้นในปีนี้เชื่อว่าการ์ดจอ Intel Arc บนโน้ตบุ๊คที่เคยลุ้นกันว่าจะเข้ามาเป็นมือที่ 3 ก็จะยังไม่อยู่ในลิสต์ให้เราตัดสินใจแน่นอน (เผลอ ๆ อาจจะไม่มีรุ่นเข้าไทยเลยด้วย) คงต้องอยู่กับ NVIDIA และ AMD กันไปต่ออีกปีครับ

 

ซีพียู AMD ยังมาตรฐานดี แต่มาตรฐานเดิม (ระวังโดนหลอก)

ไม่ได้อยากจะให้ร้ายค่ายแดงเท่าไหร่ แต่ปีนี้ AMD ค่อนข้างทำสาวกฝั่งโน๊ตบุ๊คน้อยใจ (แบบโดยภาพรวมนะ) จากการเปิดตัวซีพียู Ryzen 7000 มาแบบเหล้าเก่าในขวดใหม่เยอะไปนิด กล่าวคือทุกรุ่นได้ใช้เลข 7000 ใหม่เหมือนกันหมดก็จริง แต่ดันใหม่แค่เลขหน้าสุดซึ่งเป็นเลขประจำปี เพราะตอนนี้มีซีพียูจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ใช้ชิป Zen 4 ตัวใหม่ล่าสุดของปีนี้ แต่ดันมี Zen 3+, Zen 3 และกระทั่ง Zen 2 โผล่มาด้วย ซึ่งใครที่ดูเลขดูชิปไม่เป็นอาจจะถูกอาถรรพ์เลข 7 ต้มเอาได้

จริง ๆ จะโทษ AMD ก็ไม่ได้ เพราะเค้าเคยประกาศอัปเดตวิธีการอ่านเลขรุ่นซีพียู Ryzen โน้ตบุ๊คแบบใหม่เอาไว้แล้ว (เริ่มใช้ปีนี้ปีแรกพอดี) ดังนั้นเราต้องลบภาพการอ่านเลข 7000 แบบเพียว ๆ ในหัวออกไป เปลี่ยนเป็นการดูจากเลขหลักที่ 3 เป็นหลักแทน เช่น 7040, 7030 และ 7020 เพราะมันคือตัวเลขที่บอกรุ่นชิป Zen ที่ใช้ ซึ่งจะแรงมากแรงน้อยกว่ากันก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้เป็นหลัก (เผลอ ๆ ตัวที่ไม่ใช่ 7040 ขึ้นไป ประสิทธิภาพอาจจะไม่ต่างจากตอน 6000 ลงมาเลยก็ได้ แค่ได้เลขหน้าใหม่เท่านั้น)


 

ปีนี้ AMD เปิดตัวซีพียูโน้ตบุ๊คมาทั้งหมด 5 ตระกูลหลัก เรียงความแรงจากมากไปน้อย ได้แก่

  • Ryzen 7045 | ชิป Zen 4 | โค้ดเนม Dragon Range | รุ่นรหัสท้าย HX
  • Ryzen 7040 | ชิป Zen 4 | โค้ดเนม Phoenix | รหัสท้าย HS / U
  • Ryzen 7035 | ชิป Zen 3+ | โค้ดเนม Rembrandt-R | รหัสท้าย HS / U
  • Ryzen 7030 | ชิป Zen 3 | โค้ดเนม Barcelo-R | รหัสท้าย U
  • Ryzen 7020 และ Athlon | ชิป Zen 2 | โค้ดเนม Mendocino | รหัสท้าย U

(อยากเห็นทุกรหัสแบบครบทุกรุ่นเต็ม ๆ เผื่อมีรุ่นใหม่อัปเดตในอนาคตอีก ให้ดูในลิงก์นี้)

นั่นก็เป็นส่วนของเลขรุ่นชิปไป แต่ส่วนของรหัสท้าย ก็ยังเป็นความน่างงต่อเนื่องอีกเหมือนเดิมในปีนี้ที่ AMD ยังแบ่งรหัสท้ายได้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับคู่แข่ง จากข้อมูลคือน่าจะตั้งใจเทียบรหัส HX ของตัวเองกับ HX ของ Intel เพราะมีการวางคลาสให้มีความแรงใกล้เคียงเดสก์ท็อปเหมือนกัน

ถัดมาก็คือ HS ที่ก็น่าจะแข่งกับ H แต่ดันแตกออกเป็น 2 ขา คือมี HS ตัว Zen 3+ อีก ซึ่งตัวนี้ก็เดาว่าน่าจะเอาไว้แข่งกับ P (ทำไมตัวแรงกว่าไม่ใช่ H เหมือนเดิม) และท้ายสุดคือ U ที่ก็คงแข่งกับ U เหมือนกัน แต่ดันมีด้วยกันถึง 4 ชิปอีก เลยชวนชิปชวนงงไปใหญ่ เอาเป็นว่าเราคงไม่สามารถเทียบซีพียูกันที่รหัสท้ายได้ตรง ๆ ขนาดนั้น ไว้รอเทียบกันที่คะแนนทดสอบปลายทางเองคงจะดีที่สุดครับ

 

การ์ดจอ NVIDIA แรงเข้าขั้น การ์ดจอ AMD เงียบเหมือนเดิม

อย่างที่กล่าวไปหัวข้อต้นว่าการ์ดจอ Intel Arc คงต้องโดนตัดออกจากช้อยส์ไปก่อน (จะได้ไม่ต้องเหนื่อยเตรียมข้อมูลด้วย) ปีนี้ NVIDIA ยังคงรักษาภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านการ์ดจอเอาไว้ได้เหมือนเดิม แม้กระทั่งฝั่งโน้ตบุ๊คก็ยังเป็นต่อ AMD อยู่ไกล เปิดตัว GeForce RTX 4000 Series ทีเดียวครบทุกรุ่น ตั้งแต่ 4050 ยัน 4090 ซึ่งเป็นการมาในรอบ 2 ปีหลังจาก RTX 3000 ครองตลาดดีอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2021 และปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้เลขรหัส 90 บนรุ่นโน้ตบุ๊คด้วย

  • RTX 4090 | 16GB | 256-bit | 1.45 – 2.04 GHz | 9,728 Cuda Core | 80-150W
  • RTX 4080 | 12GB | 192-bit | 1.35 – 2.28 GHz | 7,424 Cuda Core | 60-150W
  • RTX 4070 | 8GB | 128-bit | 1.23 – 2.17 GHz | 4,608 Cuda Core | 35-115W
  • RTX 4060 | 8GB | 128-bit | 1.47 – 2.37 GHz | 3,072 Cuda Core | 35-115W
  • RTX 4050 | 6GB | 128-bit | 1.6 – 2.37 GHz | 2,560 Cuda Core | 35-115W

ด้านเทคโนโลยี NVIDIA คงไม่ต้องพูดถึง ยัดมาแบบจัดเต็มนำเพื่อนเหมือนเดิมทั้ง DLSS 3 สำหรับอัปสเกลภาพ และ Max-Q Gen 5 เพิ่มการประหยัดพลังงานและใช้หน่วยความจำไดนามิก คาดว่าดีขึ้นหลายอย่าง ส่วนด้านประสิทธิภาพเคลมไว้แต่เนิ่น ๆ เลยว่าตัวเล็กสุด RTX 4050 ยังแรงกว่า RTX 3080 เสียอีก ด้วยอานิสงค์ของ DLSS 3 นี่แหละ (แต่ด้านพลังดิบอาจจะอีกเรื่องนะ)

ลองเปรียบเทียบสเปคกับ RTX 3000 Series รุ่นเก่าด้านล่างดู

  • RTX 3080 Ti | 16GB | 256-bit | 1.12 – 1.59 GHz | 7,424 Cuda Core | 80-150W
  • RTX 3080 | 8/16GB | 256-bit | 1.24 – 1.71 GHz | 6,144 Cuda Core | 80-150W
  • RTX 3070 Ti | 8GB | 256-bit | 1.03 – 1.48 GHz | 5,888 Cuda Core | 80-150W
  • RTX 3070 | 8GB | 256-bit | 1.29 – 1.62 GHz | 5,120 Cuda Core | 80-150W
  • RTX 3060 | 6GB | 192-bit | 1.28 – 1.7 GHz | 3,840 Cuda Core | 60-115W
  • RTX 3050 Ti | 4GB | 128-bit | 1.03 – 1.69 GHz | 2,560 Cuda Core | 35 – 80W
  • RTX 3050 | 4/6GB | 64/128-bit | 0.99 – 1.74 GHz | 2048 – 2560 Cuda Core | 35 – 80W

ปูอวย NVIDIA มาขนาดนี้จะบอกว่าการ์ดจอฝั่ง AMD ไม่พัฒนาเลยหรือเปล่า ก็ไม่ถึงขนาดนั้น ปีนี้เปิดตัว Radeon RX 7000M และ 7000S Series รุ่นโน้ตบุ๊ครวม 4 รุ่น ตามหลัง RX 6000 ที่เคยออกมา 3 ตัวแรกในรอบปีครึ่ง (มีมาสมทบเพิ่มอีก 5 รุ่นด้วยตอน CES 2022) ครั้งนี้ใช้ของดีเหมือนฝั่งเดสก์ท็อปหมด ได้แก่ชิปใหม่ RDNA 3 มีเทคโนโลยี FSR และ RSR สำหรับการอัปสเกลภาพที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับ Raytracing และ AI ที่ก็เคลมว่าพัฒนาขึ้นเยอะ และรองรับการเข้ารหัสแบบ AV1 เต็มตัวแล้ว (เดิมมีเฉพาะถอดรหัส)

เฉพาะช่วงต้นปีนี้ AMD ยังเปิดตัวการ์ดจอโน้ตบุ๊คมาเพียง 4 รุ่น ที่มีสเปคระดับเริ่มต้น-กลาง (รหัส 600-700) เรียงความแรงจากมากไปน้อย ได้แก่

  • Radeon RX 7600M XT | 8GB | 128-bit | 2.3 GHz | 32CU / 2,048 Stream Processor | สูงสุด 120W
  • Radeon RX 7600M | 8GB | 128-bit | 2.07 GHz | 28CU / 1,792 Stream Processor | สูงสุด 90W
  • Radeon RX 7700S | 8GB | 128-bit | 2.2 GHz | 32CU / 2,048 Stream Processor | สูงสุด 100W
  • Radeon RX 7600S | 8GB | 128-bit | 1.86 GHz | 28CU / 1,792 Stream Processor | สูงสุด 75W

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไม่ได้โดดเด่นขึ้นแบบก้าวกระโดด มีเทียบประสิทธิภาพให้ดูแค่เฉพาะกับของเก่าตัวเอง (ไม่เหมือนฝั่งซีพียูที่ชอบเอาคู่แข่งขึ้นสไลด์ตลอด) เลยยังขโมยซีนมาจาก NVIDIA แทบไม่ค่อยได้เหมือนเดิม ขณะที่ฝั่งเดสก์ท็อปภาพลักษณ์ดูสู่สีกว่านี้มาก ไม่รู้ด้วยว่าการที่ยังเลือกใช้ M, S ต่อท้ายชื่อ (เพื่อให้ต่างจากเดสก์ท็อป) มันส่งผลให้ภาพลักษณ์ไม่ดีขึ้นด้วยหรือเปล่า งานนี้ AMD อาจยังต้องเลือกพึ่งกลยุทธ์แข่งขันที่ด้านราคา หรือเอาประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานมาเป็นจุดขายแทนไปก่อน เพื่อกระตุ้นความน่าสนใจของตัวเองให้อยู่

 

ยุคของ Ram DDR5 เต็มตัว ตีคู่กับซีพียูและการ์ดจอใหม่พอดี

แรม DDR5 เริ่มเข้าตลาดมาสักพักในปี 2022 แต่ก็เป็นปีที่เปิดมาไม่ค่อยสวยหรูนัก เพราะเจอวิกฤตด้านราคาที่แรงมากตั้งแต่แรก ทั้งจากความเป็นของใหม่ที่แพงด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ตีคู่กับยุคที่ชิปขาดแคลนพอดี เลยกลายเป็นปีเปิดตัวที่ของขาดตลาดหนักสุด ๆ คือไม่เคยมีใครได้เห็นของ บอกว่ายังไม่เคยเปิดตัวปีนั้นเลยยังน่าเชื่อถือกว่า

แต่ปีนี้แหละที่หลายอย่างจะเริ่มนิ่งขึ้น ความขาดแคลนเริ่มลดลงไปบ้าง แรม DDR5 จะถูกนำมาใช้กับโน้ตบุ๊คแบบเป็นสามัญกว่าเดิม ดังนั้นรุ่นไหนที่เคยกั๊ก ๆ ใส่แรมมาให้มาแค่ 8GB ในปีก่อน ปีนี้ก็จะได้เห็นรุ่นตัวเลือก 16GB เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะตัวที่ใช้ซีพียู AMD Ryzen 7000 ซึ่งโดนบังคับใช้แรม DDR5 อยู่แล้วก็จะมีให้เลือกแน่นอน ฉะนั้นใครที่ตัดสินใจจะซื้อเครื่องใหม่ปีนี้ก็จะได้ของใหม่ของแรงแบบจุก ๆ คูณสองกันไปเลย แต่ราคาก็จะแรงขึ้นคูณสองตามเหมือนกันนะ (ถ้ารวมการ์ดจอใหม่ด้วยก็แรงคูณสามไปอีก เพราะก็เพิ่งมาในรอบ 2 ปีเหมือนกัน)

ส่วนโน้ตบุ๊คฝั่งซีพียู Intel ซึ่ง Gen 13 ปีนี้อย่างที่บอกไปว่าเป็นตัวตีบวกจาก Gen 12 ดังนั้นคอนเซปต์ก็จะยังคงเหมือนเดิมคือใช้ได้กับทั้งแรม DDR4 และ DDR5 ตัวเลือกโน้ตบุ๊คในตลาดเลยจะยังคงหลากหลายกว่า AMD คือมีรุ่นลดต้นทุนแรมแต่ยังได้ซีพียูใหม่ด้วย ทั้งนี้เลยขึ้นอยู่กับว่าใครชอบและพร้อมจ่ายแบบไหนมากกว่ากัน (ส่วนกลุ่มโน้ตบุ๊คทำงานก็จะเน้นแรม LPDDR5 เหมือนเดิม ซึ่งมีมาก่อนนานแล้ว)

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าการลงทุนกับแรม DDR5 ในปีนี้เลยก็เป็นทางเลือกที่ไม่แย่ แม้ราคาจะแอบแรงหน่อยและต้องซื้อคู่กับซีพียูใหม่เท่านั้น แต่อย่าลืมว่ามันคือการข้ามเจนจาก DDR4 ที่อยู่มาแล้วร่วม 10 ปี ซึ่งความเร็วที่เพิ่มขึ้นมันก็สร้างความแตกต่างในการใช้งานจริงแน่นอน (ยิ่งกว่าซีพียูที่แรงขึ้นทีละน้อยทุกปีซะอีก) ดังนั้นใครที่ใช้งานโน้ตบุ๊คเก่ามาร่วม 4-5 ปีแล้ว หากพร้อมแล้วสำหรับการอัปเกรด นี่ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดีมาก คิดเสียว่าเจ็บแต่จบ ลงทุนครั้งเดียวใช้ยาว ๆ ครับ (แต่ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ว่ากันนะ)

 

หน้าจอ OLED / Mini LED ตีตลาดหนักขึ้น และจอพับมาแรงกว่าเดิม

จบที่ฝั่งไส้ในไปแล้ว เรามาพูดถึงฝั่งไส้นอกกันบ้าง ไฮไลต์เด็ดอีกอย่างในปีนี้คือเราเห็นโน้ตบุ๊คเกมมิ่งหลายรุ่น ได้ใช้จอ Mini LED กันเยอะขึ้นแล้ว เช่น MSI Titan, Acer Predator, ASUS ROG เกือบทุกรุ่น และอื่น ๆ (ส่วนใหญ่ยังเฉพาะบนซีรีส์ท็อป) จากเดิมปีก่อนยังมีประปรายแค่ไม่กี่ตัว เรียกว่ากลายมาเป็นตัวเลือกกระแสหลักกระแสใหม่ที่ตีคู่พร้อมแรม DDR5 ให้เลยสำหรับคนงบถึง

เช่นเดียวกับจอ OLED ที่จริง ๆ เริ่มเยอะมาสักพักแล้วในปี 2022 ส่วนใหญ่ยังอยู่เฉพาะบนกลุ่มโน้ตบุ๊คทำงาน แต่จะเห็นเริ่มลามลงมาอยู่กับรุ่นกลาง ๆ เยอะขึ้น อย่าง ASUS Vivobook, Acer Swift บางรุ่นราคาไม่ถึง 30,000 บาท ก็ได้จอ OLED ที่ทั้งสีสวยและสีตรงเป๊ะกันหมดแล้ว ปีนี้ก็คงจะยิ่งจัดหนักกันมากกว่าเดิม รุ่นกลางอาจจะได้เห็น OLED 2K บวก ๆ กันเป็นปกติ หรือรุ่นเริ่มต้นอาจมีสิทธิ์ได้ใช้ OLED กับเค้าแล้วก็เป็นได้

ส่วนโน้ตบุ๊คเกมมิ่ง ปีก่อนเห็นแค่ MSI กับ Razer อยู่สองเจ้าที่เจาะตลาดจอ OLED ปีนี้ก็อาจจะมีคู่แข่งโผล่มาเล็กน้อย แต่คงยังไม่เยอะเท่า Mini LED อยู่ดี เชื่อว่าน่าจะเพราะ OLED ยังคงต้นทุนสูงกว่าเหมือนเดิม แถมมีสิทธิ์จอเบิร์นได้ง่ายหากอยู่กับความร้อนของสเปคเกมมิ่งตลอดเวลา เลยยังไม่มีค่ายไหนสนใจเลือกใช้เป็นกิมมิกหลักเท่าไหร่ แต่ไม่แน่ เดี๋ยวรอลุ้นกลางปีอีกทีว่าจะมีเซอร์ไพรส์อะไรเปิดมาเพิ่มเยอะรึเปล่า

ส่วนกระแสที่ไม่พูดไม่ได้เลยก็คือโน้ตบุ๊คจอพับ OLED หลังจากได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งมือถือ ในปี 2020 Lenovo ได้ออก ThinkPad X1 Fold สู่ตลาดนี้เป็นเจ้าแรกของโลก (แต่ขายจริง 2021) ตามด้วย X1 Fold Gen 2 ในปี 2022 และ ASUS ก็ออก ZenBook Fold 17 OLED ตามมาแข่งติด ๆ ปีนี้คงจะได้เห็นเทรนด์นี้ถูกต่อยอดขึ้นมาอีกในหลายยี่ห้อและหลายรุ่นแน่นอน แต่เชื่อว่าราคาคงยังไม่ถูกลงได้เร็ว ๆ นี้ เพราะยังเป็นของใหม่อยู่

 

สรุปแนวทางการเลือกสเปค และเรทราคาที่ได้

เนื่องจากวันที่เขียนบทความนี้คือหลังงาน CES หมาด ๆ ซึ่งคือช่วงยังมีโน้ตบุ๊คที่เปิดตัวไม่เยอะรุ่นมาก แถมรุ่นที่เปิดแล้วส่วนใหญ่ก็ยังมีเฉพาะรุ่นท็อป ทั้งที่ยังไม่วางขายหรือยังไม่มีราคาบอก ฉะนั้นข้อมูลด้านราคาที่ออกมาเลยจะเป็นในเชิงคาดการณ์อยู่เยอะ แต่ก็จะใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วผสมกับแนวโน้มจากปีก่อน บอกเล่าออกมาให้ตรงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ครับ

สเปคและเรทราคาโน้ตบุ๊คเกมมิ่งปี 2023

ปีนี้เป็นยุคข้าวยากหมากแพงที่ได้รับผลต่อเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ดังนั้นราคาโน้ตบุ๊คจะไม่ค่อยถูกเหมือนแต่ก่อนเท่าไหร่ โดยเฉพาะเกมมิ่งรุ่นขวัญใจยอดนิยมของหลาย ๆ คน ปีนี้อาจจะแพงขึ้นกว่าอดีต 4,000 – 5,000 บาทเป็นอย่างน้อย แต่ก็แลกมากับข้อดีหลายอย่างที่มีเพิ่มบ้าง เช่น ชิปแรงก้าวกระโดดขึ้น, เทคโนโลยีเจนใหม่มาตรึม รวมถึงโน้ตบุ๊ครุ่นเริ่มต้นก็ค่อย ๆ ได้ดีไซน์ที่ดีใกล้เคียงรุ่นใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

1. โน้ตบุ๊คเกมมิ่งรุ่นเริ่มต้น

สเปคมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่คนน่าจะสนใจเยอะสำหรับโน้ตบุ๊คกลุ่มนี้ก็ คือ

  • ซีพียู Intel Core i5-13600H (4P+8E/16T) / AMD Ryzen 5 7640HS (6C/12T)
  • การ์ดจอ GeForce RTX 4050 (6GB) / Radeon RX 7600M (8GB)
  • แรม 16GB DDR4 Bus 3200 MHz / 8GB DDR5 Bus 4800 MHz
  • SSD M.2 PCIe 4.0 512GB
  • จอ 15.6 นิ้ว, Full HD (1,920 x 1,080), IPS, 144Hz
  • Windows 11 Home

โน้ตบุ๊คยอดนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ Acer Nitro 5, ASUS TUF Dash F15/A15, Lenovo IdeaPad Gaming 3/3i, MSI Cyborg 15, HP Vitus 15, Dell G15 และอื่น ๆ โดยทุกรุ่นตอนนี้ยังไม่มีเปิดตัวของใหม่ เพราะปกติจะไปเปิดกันเยอะช่วงกลางปี ราคาเปิดตัวคาดการณ์คือ 35,000 – 40,000 บาท (Cyborg 15 เริ่มต้นที่ 999 เหรียญ ~ 33,000 บาท ไม่รวมภาษี)

2. โน้ตบุ๊คเกมมิ่งรุ่นกลาง

สเปคมาตรฐานที่คนน่าจะสนใจเยอะสำหรับโน้ตบุ๊คกลุ่มนี้ก็ คือ

  • ซีพียู Core i7-13700H, i9-13900H (6P+8E/20T) / Ryzen 7 7735HS, Ryzen 9 7940HS (8C/16T)
  • การ์ดจอ GeForce RTX 4060, RTX 4070 (8GB) / Radeon RX 7600M XT (8GB), RX 7700M (10GB)
  • แรม 8/16GB DDR5 Bus 4800 MHz
  • SSD M.2 PCIe 4.0 512GB/1TB
  • จอ 15.6-17.3 นิ้ว, Full HD, IPS, 144-165Hz หรือ QHD (2K), IPS, 240Hz
  • Windows 11 Home

โน้ตบุ๊คยอดนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ Acer Nitro 16/17, ASUS TUF Gaming A15/F15/A16/A17/F17, Lenovo Legion 5/5i, MSI Stealth 15, HP Vitus 16/Omen 16, Dell G15 และอื่น ๆ ตอนนี้มีบางรุ่นเปิดตัวมาแล้วแต่ยังไม่บอกราคา ส่วนอันที่ใส่ราคาคร่าว ๆ ก็บอกสเปคไม่ละเอียด ราคาเปิดตัวคาดการณ์คือ 42,000 – 65,000 บาท (Nitro 16/17 เริ่มต้นที่ 1,200 เหรียญ ~ 40,800 บาท ไม่รวมภาษี)

3. โน้ตบุ๊คเกมมิ่งรุ่นกลาง-บน

สเปคในกลุ่มนี้ค่อนข้างกว้าง ส่วนใหญ่ถ้าเน้นซีพียูแรงสุดไปเลยอย่างรหัส HX ก็มักจะให้การ์ดจอเบาลงมาหน่อย หรือถ้าเน้นการ์ดจอก็จะลดต้นทุนซีพียูลงมาเป็นรหัส H, HS แทน (แล้วแต่ยี่ห้อมาก) ระบุไว้คร่าว ๆ คือ

  • ซีพียู Core i5 / i7 / i9 รหัส H, HX (สูงสุด 8P+16E/32T) / Ryzen 5 / Ryzen 7 / Ryzen 9 รหัส HS, HX (สูงสุด 16C/32T)
  • การ์ดจอ RTX 4080 (12GB), RTX 4090 (16GB) / Radeon RX 7800M (12GB) หรือสูงกว่า (ถ้ามี)
  • แรม 16/32GB DDR5 Bus 4800/5200 MHz
  • SSD M.2 PCIe 4.0 512GB/1TB/2TB
  • จอ 15.6-17.3 นิ้ว QHD (2K), IPS/Mini LED, 240-250Hz
  • Windows 11 Home/Pro

โน้ตบุ๊คยอดนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ Predator Helios 16/18, ROG Zephyrus G14/416/M16, Lenovo Legion 7/7i, HP Omen 17, Dell G16 และอื่น ๆ คล้ายกับรุ่นกลางเลยคือมีหลายรุ่นเปิดมาแล้ว แต่รายละเอียดยังไม่เยอะ แถมตลาดนี้แอบจัดกลุ่มยากเพราะมีหลากรุ่นหลากราคาอย่างที่บอกไป ทำให้ต้องตีเลขเริ่มต้นไว้กว้าง ๆ หน่อยคือ 59,000 – 90,000 บาท (Helios 16 เริ่มต้นที่ 1,650 เหรียญ ~ 55,000 บาท ไม่รวมภาษี)

4. โน้ตบุ๊คเกมมิ่งรุ่นไฮเอนด์

สเปคคงไม่ต้องเดาเยอะ น่าจะเป็นแบบเกือบสุดถึงสุดทุกทางแล้วสำหรับซีรีส์นี้ คือ

  • ซีพียู Core i7 / i9 รหัส HX (สูงสุด 8P+16E/32T) / Ryzen 7 / Ryzen 9 รหัส HX (สูงสุด 16C/32T)
  • การ์ดจอ GeForce RTX 4090 (16GB)
  • แรม 32/64/128GB DDR5 Bus 4800/5200/5600/6400 MHz
  • SSD M.2 PCIe 4.0 2TB/4TB
  • จอ 15.6-18 นิ้ว FHD-QHD (2K), IPS, 165-480Hz หรือ Mini LED 240Hz / UHD (4K), Mini LED, 120-144Hz
  • Windows 11 Home/Pro

โน้ตบุ๊คยอดนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ ROG Strix SCAR 16/17/18, MSI Titan GT77/Raider GE78HX, Alienware X14/X16/M16/M18, Razer Blade 16/18 และอื่น ๆ ราคาเปิดตัวคาดการณ์คือ 100,000 – 180,000 บาท (อ้างอิงตามราคาปีที่แล้ว)

สเปคและเรทราคาโน้ตบุ๊คทำงานปี 2023

จริง ๆ ต้องยอมรับตามตรงว่าผู้เขียนเป็นสายเชี่ยวชาญโน้ตบุ๊คเกมมิ่งมากกว่าโน้ตบุ๊คทำงาน เลยจะให้ข้อมูลได้ไม่ครอบคลุมเท่า ที่สำคัญคือฝั่งโน้ตบุ๊คทำงานเค้าก็มีตัวเลือกเยอะมาก คือแทบจะในทุกหย่อมราคาเลย เช่นมีรุ่นที่ลดสเปคนี้ไปเพิ่มสเปคนี้แทนแต่ราคาเท่ากัน (หยิบย่อยกว่าฝั่งเกมมิ่งสุด ๆ) เลยจะลำบากในการจัดกลุ่มสเปคราคาหน่อย แต่ก็จะพยายามให้ข้อมูลที่ครอบคลุมมากสุดเท่าที่เป็นไปได้ครับ

อย่างที่ทราบกันว่าโน้ตบุ๊คทำงานคือรุ่นที่เน้นตัวเครื่องน้ำหนักเบา พกพาง่าย และใช้งานแบตเตอรี่ได้หลายชั่วโมง ดังนั้นซีพียูที่ใช้จะเน้นรหัส P, U (Intel) และ HS, U (AMD) ซึ่งเป็นตัวประหยัดพลังงานเป็นหลัก และจะมีตัวเลือก Core i3, Ryzen 3, Intel Processor, Athlon Gold มาให้เลือกเพิ่มเติมสำหรับราคาประหยัด (หรือกระทั่งซีพียู Arm อย่าง Snapdragon แต่ก็ยังน้อยมากอยู่) เดี๋ยวมาดูกันว่าโน้ตบุ๊คที่ได้จะอยู่เรทราคาเท่าไหร่

1. โน้ตบุ๊คทำงานรุ่นเริ่มต้น

สเปคมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่คนน่าจะสนใจเยอะสำหรับโน้ตบุ๊คกลุ่มนี้ก็ คือ

  • ซีพียู Intel U300 (1P+4E/6T) Core i3-1315U (2P+4E/8T) / AMD Ryzen 3 7335U (4C/8T) / Athlon Gold 7220U (2C/4T) / Snapdragon 7c
  • การ์ดจอออนบอร์ด Intel UHD Graphics (64EU) / Radeon 610M/660M (2/4 Core)
  • แรม 4/8GB DDR4/LPDDR4/LPDDR5 Bus สูงสุด 3200 (หรือ DDR5 Bus 4800 เฉพาะ AMD)
  • SSD M.2 PCIe 3.0/4.0 256-512GB
  • จอ 14/15.6 นิ้ว, Full HD (1,920 x 1,080), IPS, 60Hz
  • Windows 11 Home

โน้ตบุ๊คยอดนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ Acer Aspire 3, ASUS ExpertBook L1, Lenovo V14, Infinix InBook, RedmiBook 15 และอื่น ๆ โดยทุกรุ่นตอนนี้ยังไม่มีเปิดตัวของใหม่ เพราะปกติจะไปเปิดกันเยอะช่วงกลางถึงปลายปี ราคาเปิดตัวคาดการณ์คือ 10,000 – 18,000 บาท (อ้างอิงจากราคาปีที่แล้ว) ส่วนใหญ่คนที่สนใจโน้ตบุ๊คตลาดนี้มักหยิบรุ่นเก่าลดราคา 1-2 ปีที่แล้วมาเปรียบเทียบด้วย เพราะซื้อของใหม่ที่ซีพียูเจนใหม่อย่างเดียวใช่ว่าจะดีเสมอไป ต้องดูความคุ้มอย่างอื่นรวม ๆ กัน

2. โน้ตบุ๊คทำงานรุ่นกลาง

สเปคมาตรฐานที่คนน่าจะสนใจเยอะสำหรับโน้ตบุ๊คกลุ่มนี้ก็ คือ

  • ซีพียู Intel Core i5/i7 รหัส U / Core i5 รหัส P / AMD Ryzen 5/Ryzen 7 รหัส U/HS / Snapdragon 8cx
  • การ์ดจอออนบอร์ด Intel Iris Xe Graphics (80EU) / Radeon 660M (4 Core) / บางรุ่นเริ่มมีการ์ดจอแยก เช่น MX550/MX570 หรือ NVIDIA เจนเก่า
  • แรม 8/16GB DDR4/LPDDR4/LPDDR5 Bus สูงสุด 3200 (หรือ DDR5 Bus 4800 เฉพาะ AMD)
  • SSD M.2 PCIe 3.0/4.0 512GB
  • จอ 14-17.3 นิ้ว, FHD/QHD (2K), IPS/OLED 60-90Hz
  • Windows 11 Home

โน้ตบุ๊คยอดนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ ASUS Vivobook OLED, Acer Aspire 5, MSI Modern, Dell XPS, Lenovo IdeaPad Slim, Huawei MateBook และอื่น ๆ โดยทุกรุ่นตอนนี้ยังไม่มีเปิดตัวของใหม่ เพราะปกติจะไปเปิดกันเยอะช่วงกลางถึงปลายปี ราคาเปิดตัวคาดการณ์คือ 18,000 – 32,000 บาท (อ้างอิงจากราคาปีที่แล้ว)

3. โน้ตบุ๊คทำงานรุ่นกลาง-บน

สเปคมาตรฐานที่คนน่าจะสนใจเยอะสำหรับโน้ตบุ๊คกลุ่มนี้ก็ คือ

  • ซีพียู Intel Core i7 รหัส U/P/H / AMD Ryzen 7/Ryzen 9 รหัส U/HS
  • การ์ดจอออนบอร์ด Intel Iris Xe Max Graphics (96EU) / Radeon 760M/780M (8-12 Core) / บางรุ่นมีการ์ดจอแยก เช่น RTX 4050
  • แรม 16/32GB LPDDR5/DDR5 Bus สูงสุด 6400
  • SSD M.2 PCIe 4.0 512GB/1TB
  • จอสัมผัส 14-17.3 นิ้ว, QHD (2K) / UHD 4K, IPS/OLED 60-120Hz
  • Windows 11 Home/Pro

โน้ตบุ๊คยอดนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ ASUS Zenbook, HP Envy, Lenovo Yoga/ Yoga Slim, Microsoft Surface และอื่น ๆ ที่เหมือนกับรุ่นกลางธรรมดา แต่เป็นตัวเลือกซีพียูที่สเปคสูงกว่า, ความจุเยอะกว่า, แบตอึดขึ้น, อัปเกรดจอหรือภายนอกบางอย่างเพิ่มเติม และเน้นวัสดุโลหะเกรดพรีเมียมไปเลย ราคาเปิดตัวคาดการณ์คือ 32,000 – 70,000 บาท (อ้างอิงจากราคาปีที่แล้ว)

4. โน้ตบุ๊คทำงานรุ่นไฮเอนด์

สเปคมาตรฐานที่คนน่าจะสนใจเยอะสำหรับโน้ตบุ๊คกลุ่มนี้ก็ คือ

  • ซีพียู Intel Core i7/i9 รหัส H / AMD Ryzen 7/Ryzen 9 รหัส HS (หรือนอกเหนือจากนี้)
  • การ์ดจอออนบอร์ด Intel Iris Xe Max Graphics (96EU) / Radeon 760M/780M (8-12 Core) / บางรุ่นมีการ์ดจอแยก เช่น RTX 4050, 4060
  • แรม 16/32GB LPDDR5/DDR5 Bus สูงสุด 6400
  • SSD M.2 PCIe 4.0 1TB
  • จอสัมผัส 14-17.3 นิ้ว/จอพับ, QHD (2K) / UHD 4K, IPS/OLED/Mini-LED 60-120Hz
  • Windows 11 Home/Pro

โน้ตบุ๊คยอดนิยมในกลุ่มนี้ จะเป็นรุ่นที่มีการออกแบบที่แหวกแนวไปเลย เช่น ASUS Zenbook Pro Duo OLED (รุ่นที่มีหน้าจอพิเศษที่ 2), ASUS Zenbook 17 Fold (จอพับ), Lenovo ThinkPad X1 Fold (จอพับ), Microsoft Surface Laptop Studio และอื่น ๆ ฉะนั้นสเปคจะไม่ใช่ประเด็นหลักที่มีผลต่อราคา แต่คือกิมมิกด้านการออกแบบและความไม่เหมือนใครล้วน ๆ ราคาเปิดตัวคาดการณ์ของโน้ตบุ๊คกลุ่มนี้ (กว้างมาก) อยู่ที่ 60,000 – 130,000 บาท (อ้างอิงจากราคาปีที่แล้ว)

ก็จบกันไปแล้วนะครับสำหรับบทความแนะนำการเลือกสเปคโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ประจำปี 2023 นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนที่กำลังวางแผนเลือกซื้อคอมใหม่ปีนี้กันอยู่ หรือหากไม่ได้สนใจตอนนี้ก็มาศึกษาหรือใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพีซีร่วมกันแทนได้ ต้องขออภัยด้วยครับถ้าหากมีข้อมูลบางอย่างผิดพลาดบ้าง รวมถึงยังไม่ได้เขียนครอบคลุมถึงวงการคอมประกอบ DIY ด้วย หากมีโอกาสเดี๋ยวได้ทำเพิ่มเติมแน่นอน ขอบพระคุณมาก ๆ สำหรับการติดตามซึ่งได้อ่านกันมาจนถึงตรงนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า