[รีวิว] Zom 100: Bucket List of the Dead งานหนักไม่เคยฆ่าใคร? แต่ถ้าไม่ได้ใช้ชีวิต ให้ซอมบี้ Eat ยังดีกว่า

เรื่องย่อ: เทนโด อากิระ เป็นพนักงานบริษัทที่ถูกใช้งานเยี่ยงทาส จนเช้าวันหนึ่งเหล่าซอมบี้บุกอาละวาดทั่วเมือง เขาจึงได้รู้ความรู้สึกตนเองว่ายอมถูกซอมบี้กินดีกว่า ถ้าชีวิตนี้ไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ เทนโดจึงนั่งเขียนรายการสิ่งที่เขาอยากทำ 100 อย่างก่อนที่ตัวเองจะกลายเป็นซอมบี้และออกไปใช้ชีวิตให้คุ้มเสียที

‘Zom 100: Bucket List of the Dead’ เป็นผลงานมังงะโชเน็นจากการแต่งเรื่องของอาจารย์ อาโสะ ฮาโระ (Aso Haro) และวาดภาพโดยอาจารย์ทากาตะ โคทาโร (Tanaka Kotaro) ตั้งแต่ปี 2018 จวบจนถึงปัจจุบันออกมาแล้ว 14 เล่มที่ญี่ปุ่น โดยใครคิดว่าทำไมบุคลิกตัวละครนำถึงคุ้น ๆ คล้าย ๆ กับเรื่อง ‘Alice in Borderland’ นั่นก็เพราะอาจารย์อาโสะเป็นผู้แต่งเรื่องและวาดมังงะเรื่องอลิสฯ ด้วยนั่นเอง

และแม้ ‘Zom 100’ จะมีธีมว่าด้วยการตามหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ของพระเอกเช่นเดียวกัน แต่ก็มีพลอตที่ชัดเจนของตนเอง ทั้งฉากหลังที่เป็นโลกซอมบี้อันเป็นจุดพลิกเรื่องราว และแรงขับดันทางจิตใจที่เกิดจากการทำงานในบริษัทที่กดขี่พนักงานเยี่ยงทาส ซึ่งเป็นปัญหาสังคมของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Buraku Kigyō หรือ Black Company จนทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่เกิดนิยามศัพท์อย่าง Karoshi หรือโรคทำงานหนักจนตาย มันดูใกล้ตัวผู้อ่านยุคใหม่ที่เจอปัญหา Work-Life Balance ด้วย

เท่ากับว่า ‘Zom 100’ ผนวกวัฒนธรรมร่วมสมัยยอดนิยมถึง 2 อย่างเข้าด้วยกัน ไม่แปลกที่มังงะจะได้รับความนิยมจนถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมะออกฉายในปีนี้เช่นกัน นั่นหมายความว่าคนที่ชื่นชอบเรื่องนี้อาจจะได้ดูการเล่าเรื่องเดียวกันแต่ผ่านสื่อต่างชนิดรวมกับหนังคนแสดงเรื่องนี้ด้วยก็คือ 3 ครั้งติด ๆ กันเลย (ยิ่งแฟนชาวไทย คือมังงะฉบับแปลไทยก็เพิ่งตีพิมพ์เล่มแรกไปไม่นานมาก)

Zom 100: Bucket List of the Dead

และเมื่อมองว่าตัวซีรีส์แอนิเมะที่ฉายมาได้ไม่กี่ตอนก็ดัดแปลงมาได้ดีมากแล้ว ทั้งคุณภาพด้านภาพเสียงและคุมโทนที่จัดจ้านแต่ไม่ทิ้งความกดดันที่หนักหน่วงของบริษัททาส (ตอนที่ 1 ได้คะแนน IMDb ไป 9.1 ในวันแรก) ก็แน่นอนว่าเมื่อเห็นภาพโปรโมตของหนังฉบับคนแสดงที่โทนหนังตลกญี่ปุ่นแสดงแบบโอเวอร์แอ็กติ้งจ๋ามาเลย ก็จะรู้สึกไปก่อนว่าฉบับหนังน่าจะไม่ดีเท่าแน่ ๆ จากประสบการณ์การดูหนังญี่ปุ่นที่ดัดแปลงจากมังงะหลาย ๆ เรื่อง

แต่เมื่อดูช่วงปูเรื่องไปได้ค่อนทางก็ต้องบอกว่าผิดคาดพอสมควร เพราะงานโปรดักชันของหนังเรื่องนี้ดูดีแบบสากลทีเดียว ทั้งมุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง การออกแบบศิลป์ทั้งเมือง การจัดแสง งานเมกอัป และซีจี โดยเฉพาะการเล่าเรื่องกับการแสดงนั้นถือว่าคุมอยู่ในรสแบบสากลดีทีเดียว อาจเพราะเป็นงานที่ฉายทั่วโลกของเน็ตฟลิกซ์เองด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้กำกับ อิชิดะ ยูสุเกะ (Ishida Yûsuke) ที่เคยมีผลงานซีรีส์แนวปริศนาระทึกขวัญวัยรุ่นทางเน็ตฟลิกซ์อย่าง ‘Re: Mind’ (2017) นั้นฝีมือการเล่าเรื่องพัฒนาขึ้นมากทีเดียว

‘Zom 100’ เป็นหนังที่ต้องการเวลาเยอะในการปูแต่ละช่วงภารกิจ พอเคลียร์ปัญหาแรก ก็จะปูภารกิจใหม่ซ้ำวนไป เริ่มตั้งแต่การเคลียร์ปมในใจกับรุ่นพี่สุดสวยที่เจอในบริษัท การเคลียร์ปัญหากับเพื่อนเก่าที่เคยทะเลาะกัน การเอาชนะใจสาวแกร่งที่นิสัยต่างกันสุดขั้ว คือเหมือนตัวเอกต้องทำภารกิจเพื่อรวบรวมสมาชิกให้ครบ ก่อนไปเจอรองบอสกับลาสต์บอสที่เป็นทั้งมนุษย์และอสุรกายซอมบี้ยักษ์อีกที

อันนี้เดาว่าคนไม่เคยอ่านมังงะหรือดูแอนิเมะจะรู้สึกว่าเรื่องเดินอืดหรืออารมณ์วน ๆ ไปนิด แต่คนที่เคยดูมาก่อนจะรู้สึกว่าผู้สร้างพยายามมากที่จะรวบโมเม้นต์สำคัญมาให้อยู่ในหนังแบบลงตัวที่สุด ซึ่งแฟนจากต้นฉบับจะรู้สึกว่าหนังทำมาดีมากกว่าคอหนังที่มาดูฉบับคนแสดงเลย

และที่ถือว่าเน็ตฟลิกซ์อาจเลือกคนถูกงานในคราวนี้ก็คือ ตัวมังงะมีฉากเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นจำนวนมากตามจำนวนข้อที่พระเอกอยากทำก่อนตาย ทำให้เมื่อหนังต้องขมวดหลายอย่างด้วยเวลา 2 ชั่วโมงจึงเป็นความสาหัสในการเล่าเรื่องเหมือนกัน แต่ผู้กำกับอิชิดะก็รื้อและเรียบเรียงเรื่องราวขึ้นใหม่โดยยังไม่สูญเสียรสชาติเดิมจากมังงะที่เรียกได้ว่าเคารพต้นฉบับได้อย่างดี ด้วยเพราะผู้กำกับอิชิดะเป็นผู้กำกับไม่กี่คนที่เติบโตมาจากสายงานตัดต่อหนัง ซึ่งเคยผ่านงานตัดต่อหนังแฟรนไชส์ ‘Attack on Titan’ ฉบับคนแสดงมาหลายภาคด้วยนั่นเอง ทำให้วิธีคิดจัดการลำดับเหตุการณ์ของเขาเป็นระบบ

Zom 100: Bucket List of the Dead

การเลือกนักแสดงเองก็จัดว่าเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้หนังตรึงผู้ชมเอาได้ไว้ตลอด นอกไปจากเส้นเรื่องที่หวือหวาและปมปัญหาใจที่ใกล้ตัวผู้ชมวัยทำงานที่น่าสนใจอยู่แล้ว โดยเลือกเอา อากาโสะ เอจิ (Akaso Eiji) ผู้เคยรับบทคาเมนไรเดอร์ครอสซ์มารับบทพระเอก ซึ่งอากาโสะก็ถ่ายทอดไม่ว่าจะด้านสดใสเป็นพนักงานใหม่หัวอ่อนไฟแรงและตอนช่วงจิตตกที่หดหู่ขนาดอยากฆ่าตัวตายได้ดี มีเสน่ห์เวลาอยู่บนจอน่าเอาใจช่วยมาก ๆ

ส่วนนางเอกได้อดีตไอดอลสาววงโนกิซากะ 46 อย่าง ชิราอิชิ ไม (Shiraishi Mai) มารับบทชิซูกะ สาวแกร่งที่เชื่อหลักตรรกะและมองโลกแง่ร้ายมากกว่าเชื่อในสัญชาตญาณและการมองโลกแง่บวก ด้วยใบหน้าที่สวยมีเสน่ห์จนต้องหยุดมองโดยเฉพาะไฝเด่นที่ริมฝีปากของเธอ บวกกับตาโต ๆ ที่ฉายแววดุแต่ก็น่ารัก เป็นความขัดแย้งที่สวยงามลงตัวกับคาแรกเตอร์ของพระเอกพอดี

‘Zom 100: Bucket List of the Dead’ จึงเป็นหนังซอมบี้ที่มีพลอตแตกต่างจากหนังซอมบี้ปกติไปในแนวตลกร้ายจนถึงตลกปัญญาอ่อน ผนวกกับเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นบางอย่างที่กลืนไปกับภาษาหนังแบบสากลจนไม่อาจเอาหนังซอมบี้เรื่องอื่นมาเป็นเกณฑ์วัดตรง ๆ ได้ และแม้ท่าทีมันจะเล่าอย่างการ์ตูนแฟนตาซีมาก ทว่าเนื้อในของมันก็พูดปัญหาสังคมและความเจ็บป่วยจากงานของมนุษย์ยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ ว่าเราปล่อยไหลไปกับความเร็วของเวลาและเทคโนโลยีหรือการควบคุมของคนอื่น จนลืมหันมองว่าเราใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขหรือเหลือความฝันไว้เป็นแรงจูงใจในพรุ่งนี้หรือเปล่า เพราะสิ่งที่น่าเศร้ามากที่หนังไม่ได้นำเสนอตรง ๆ คือ การที่คนหนุ่มสาวถูกฉกชิงช่วงชีวิตอันมีค่าไปเป็นเรื่องไม่น่าให้อภัยอย่างยิ่งทีเดียว นั่นก็เพราะเราเกิดมามีโอกาสใช้พลังกายและพลังใจในวัยหนุ่มสาวแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

Zom 100: Bucket List of the Dead
Zom 100: Bucket List of the Dead
Zom 100: Bucket List of the Dead
บท
7
โปรดักชัน
7.5
การแสดง
7.5
ความสนุกตามแนวหนัง
7
ความคุ้มค่าการรับชม
7
จุดเด่น
งานสร้างและการการแสดงที่ดีเป็นสากล ลบภาพหนังตลกญี่ปุ่นไปได้ ดัดแปลงจากต้นฉบับได้ดีเก็บจุดสำคัญ ๆ ที่เล่าธีมของเรื่องไว้ได้ดี
จุดสังเกต
หนังค่อนข้างยาว กราฟอารมณ์ขึ้นลงแบบวนลูปตามภารกิจทำให้รู้สึกไม่ค่อยเป้นเนื้อเดียวกันนัก คนที่เคยอ่านมังงะหรือดูแอนิเมะมาก่อนถึงจะรู้สึกว่าหนังดัดแปลงมาได้ดีเพราะเข้าใจบริบทบางอย่างที่หนังตัดทิ้งไป อาจจะชอบมากกว่าาคนที่ไม่เคยผ่านตามาเลย
7

The post [รีวิว] Zom 100: Bucket List of the Dead งานหนักไม่เคยฆ่าใคร? แต่ถ้าไม่ได้ใช้ชีวิต ให้ซอมบี้ Eat ยังดีกว่า appeared first on #beartai.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า