เรื่องย่อ: เรื่องราวของราชาวานรกับกระบองวิเศษที่ร่วมมือกันทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ โดยต้องประจันหน้ากับเหล่าปีศาจกว่า 100 ตน รวมถึงราชามังกรสุดพิลึก แต่ศัตรูที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าปีศาจใดกลับเป็นอีโก้ของเจ้าราชาวานรนั่นเอง

ไซอิ๋ว หรือ Journey to the West เป็นวรรณกรรมจีนโบราณยุคราชวงศ์หมิงอายุกว่า 400 ปี ผลงานของ อู๋เฉิงเอิน เล่าเรื่องการเดินทางของพระถังซำจั๋งสู่แดนตะวันตกเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกจากชมพูทวีปหรืออินเดียกลับมายังเมืองจีน ซึ่งอิงเรื่องราวจากภิกษุที่มีตัวตนจริงในยุคราชวงศ์ถัง ก่อนหน้าอู๋เฉิงเอินจะเกิดกว่า 1,000 ปีนามว่า พระเสวียนจ้าง แน่นอนว่ามันอิงประวัติศาสตร์เพียงบางเบาแต่แต่งแต้มจินตนาการน่าตื่นเต้นมากมายจนผู้อ่านต้องอัศจรรย์ตรึงใจ

โดยเฉพาะศิษย์เอกของพระถังซำจั๋งที่เป็นราชาวานรผู้มีอิทธิฤทธิ์เย้ยฟ้าท้าดินนามว่า เห้งเจีย หรือ ซุนหงอคง ซึ่งอู๋เฉิงเอินได้เปรียบเปรยตัวละครนี้แทนนามธรรมของหนึ่งในไตรสิกขา นั่นคือ ปัญญา หรือความคิดที่มีลักษณะว่องไว ฟุ้งซ่าน อยู่ไม่สุข แต่ก็ช่วยให้ผ่านอุปสรรคไปได้ เห้งเจียเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์มากจนถูกนำเสนอดัดแปลงไปในหลายสื่อหลายวัฒนธรรม

หนึ่งในเวอร์ชันดัดแปลงและตีความใหม่ที่ดีที่สุดคงไม่พ้น ‘A Chinese Odyssey’ (1995) หรือ ‘ไซอิ๋ว 95 เดี๋ยวลิงเดี๋ยวคน’ ที่มี โจวซิงฉือ (Stephen Chow) แสดงนำ และ ‘Journey to the West’ (2013) ซึ่งก็ให้บังเอิญว่ามีโจวซิงฉือทำหน้าที่กำกับอีก และเมื่อโจวซิงฉือจะสนใจอำนวยการสร้างให้แอนิเมชันว่าด้วยหงอคง จนกลายมาเป็น ‘The Monkey King’ เรื่องนี้ มันจึงน่าตื่นเต้นอย่างที่สุด

The Monkey King

และทีมงานที่ถูกเลือกมาเล่าไซอิ๋วฉบับเน็ตฟลิกซ์นี้ก็คือ แอนโธนี สตักชี (Anthony Stacchi) ผู้กำกับที่เชี่ยวกรำในวงการเบื้องหลังจนเริ่มสร้างชื่อในหนังยาวของตนเองอย่าง ‘Open Season’ (2006) ก่อนจะได้มีลุ้นเข้าชิงออสการ์สาขาแอนิเมชันในเรื่อง ‘The Boxtrolls’ (2014) และหนังยังได้มือเขียนบทอเมริกันเชื้อสายจีนอย่าง ริตา โช (Rita Hsiao) ที่มีผลงานเขียนบทให้ ‘Mulan’ (1998) และ ‘Toy Story 2’ (1999) มาแล้ว จึงนับได้ว่านี่อาจเป็นส่วมผสมที่ลงตัวไม่น้อยในการดัดแปลงวรรณกรรมจีนยอดนิยมอย่างไซอิ๋วออกมาในรสแบบตะวันตก ที่ไม่ฉาบฉวยและหลงลืมความเป็นตะวันออก

‘The Monkey King’ อาจไม่ได้มีเส้นเรื่องที่แตกต่างไปจากเรื่องเล่าที่เราคุ้นชิน ลิงสวรรค์กำเนิดขึ้นจากศิลาวิเศษ จากนั้นก็ไปขโมยกระบองค้ำสมุทรของเจ้ามังกรมาเป็นอาวุธและตั้งตนเป็นราชาของเหล่าลิง เริ่มได้ใจจึงลงนรกภูมิไปแก้ไขวันตายของตน และบุกสวรรค์ไปกินท้อวิเศษ จนพระยูไลใช้กลลวงท้าให้กระโดดพ้นฝ่ามือแต่ก็พ่ายแพ้ในท้ายสุด ก่อนจะได้พานพบกับพระถังซำจั๋งในอีก 500 ปีต่อมา

ทว่าสิ่งที่สติกชีและโช และอาจรวมถึงโจวซิงฉือได้เพิ่มเข้ามาคือการเชื่อมระหว่างบรรทัดเส้นเรื่อง ใส่เหตุผลแรงจูงใจ ใส่ชีวิตลงไปจนหนังมีหัวใจ โดยเฉพาะการสร้าง 2 ตัวละครสำคัญในเรื่องราวนี้ หนึ่งคือ ตัวละครลิงเฒ่า ที่เป็นผู้ผลักไสและสร้างบาดแผลในใจให้หงอคงจิ๋ว ให้ยิ่งโหยหาความรักและการยอมรับ เพราะเติบโตขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว กลายเป็นพฤติกรรมที่บิดเบี้ยวหลงตัวเองขาดความเข้าใจผู้อื่น และต้องการความรักจากคนอื่นอย่างไม่เลือกวิธีการ ลิงเฒ่ายังเป็นผู้ฝังคำว่าก้อนกรวดที่ไร้ค่าในฝ่ามือที่กว้างใหญ่จนกลายเป็นปมในใจของหงอคงที่ถูกนำไปโยงกับฝ่ามือพระยูไลในตอนท้ายอีกด้วย

อีกตัวละครหนึ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องราวอย่างมากคือ หลิน เด็กสาวที่มาพานพบกับหงอคงซึ่งกำลังเดินทางปราบปีศาจ 100 ตัวเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเซียนบนสวรรค์ หลินคือเด้กที่มาเปิดหัวใจที่แข็งกร้าวของหงอคงให้อ่อนโยน ในขณะเดียวกันหลินก็มีปูมหลังที่มีมิติต้องการฉกฉวยประโยชน์จากหงอคงด้วยเช่นกัน ความสัมพันธ์ของหงอคงและหลินที่เติบโตขึ้นเป็นพัฒนาการตัวละครที่ทำให้หนังมีความอิ่มอุ่นละมุนไปด้วยความรู้สึกดี และแน่นอนไม่ทิ้งความบันเทิงลงแต่อย่างใด

มุกจากลักษณะนิสัยที่ขัดกันของหงอคงและหลิน ที่มีลูกคู่เป็นกระบองวิเศษ ช่วยทำให้เรื่องราวมีลูกล่อลูกชนน่าติดตาม กลิ่นไอของหนังโจวซิงฉือก็ถูกถ่ายทอดมาอย่างคารวะ ทั้งตัวหงอคงแทบเห็นภาพการแสดงของโจวซิงฉือทาบทับ ดีไซน์ตัวละครเจ๊ฮูหยินเจ้าเมืองที่ถอดแบบมาจากหนัง ‘Kung Fu Hustle’ (2004) การเดินเรื่องแบบมีหญิงสาวเป็นผู้ช่วยสำคัญที่คอยตบเรียกสติพระเอกก็เป็นเอกลักษณ์ในหนังโจวซิงฉืออีกเช่นกัน

และอาจด้วยความที่มีทีมงานฝั่งเอเชียอยู่พอสมควร หนังจึงไม่ได้เป็นแบบการฟอกขาวให้เป็นตะวันตกอย่างงานอื่น ๆ มันมีการปรับแต่งที่เข้าใจรากวัฒนธรรมหรือเรื่องราวอย่างดี ตัวละครอย่างหงไหเอ๋อจริงแล้วจะเป็นปีศาจอุปโลกน์ตัวใดก็ได้ แต่ทีมงานก็เลือกเอาเด็กแดงลูกของปีศาจกระทิงและเจ้าหญิงพัดเหล็ก ที่ภายหลังจะเป็นมือขวาของเจ้าแม่กวนอิม ให้เอามาใช้จนเป็นตัวละครเซอร์ไพรส์ได้อย่างดี

ด้านงานภาพเองก็สุดยอดทั้งการดีไซน์ตัวละครจีนที่เรารู้สึกว่าทำได้ดีมากไม่ดูเหมารวมเป็นแค่พวกตาตี่เหมือนในแอนิเมชันบางเรื่อง การแอนิเมตที่ลื่นไหลทั้งมุมกล้องและท่าทางแอ็กชัน เอ็ฟเฟกต์อลังการจนเราเพลินตาไปพร้อมเพลินใจในเรื่องราวได้อย่างดี แน่นอนว่าบทเพลงที่นำมาใช้เป็นหนังเพลงบางช่วงนั้นก็หลากรสและผ่านการคิดมาอย่างดี ไม่ว่าจะเพลงแนวเมทัล ไปจนถึงแนวอะแคปเปลลา

แม้ว่างานพากย์อังกฤษจะทำได้น่าสนใจโดยเอานักพูดคอมเมเดียนดังที่มีโชว์ลงในเน็ตฟลิกซ์มาให้เสียง ทั้ง จิมมี โอ. ยาง (Jimmy O. Yang) หรือ โจ คอย (Jo Koy) แต่อยากให้ลองฟังพากย์ไทยของเรื่องนี้มาก เพราะเขาแปลกับร้องเพลงในเรื่องให้เป็นภาษาไทยด้วย แม้คุณภาพการร้องจะไม่ได้ระดับงานดิสนีย์ แต่ก็เห็นความพยายามความตั้งใจคิดสัมผัสคำได้น่าชม อันนี้ขอชมมือแปลฉบับไทยอย่าง รัตนชัย เหลืองวงศ์งาม และประพันธ์เพลงฉบับไทยอย่าง ธานี พูนสุวรรณ รวมถึงทีมพากย์ทีมร้องของไทยทุกคนด้วยเช่นกัน

สรุปนี่เป็นหนังแอนิเมชันที่เราชวนให้ชมมาก ๆ เหมาะแกการพักผ่อนสุด ๆ และแน่นอนว่าใครที่คิดถึงหนังของโจวซิงฉือเรื่องนี้แม้จะเป็นความเกี่ยวข้องในแบบที่เขานั่งอำนวยการผลิตเท่านั้น แต่มันก็ให้รสคลายคิดถึงได้พอประมาณเลย ขออนุญาตแนะนำครับ

The Monkey King
The Monkey King
The Monkey King
บท
8
โปรดักชัน
7.5
การพากย์
7.5
ความสนุกตามแนวหนัง
8
ความคุ้มค่าการรับชม
8
จุดเด่น
งานดัดแปลงที่มีหัวใจและเติมชีวิตให้เรื่องราวเก่านับพันปีให้มีมุมมองใหม่ ๆ โดยไม่รื้อทำลายของเก่า คุณภาพงานแปลงานพากย์ที่ดี
จุดสังเกต
มีบางจุดที่บทหนังเล่นง่ายไปสักหน่อย งานร้องไทยที่ยังทำได้ไม่ดีมาก
8

The post [รีวิว] The Monkey King: กำเนิดหงอคงเล่าใหม่ ที่มีกลิ่นอายโจวซิงฉือมาเต็ม appeared first on #beartai.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า