[รีวิว] Kingdom 2: Far and Away สงครามทั้งเล็กใหญ่ กระจายสัดส่วนเล่าได้สุดมัน

เรื่องย่อ: หลังจาก ชิน เด็กกำพร้าบ้านนอกบังเอิญช่วยเหลือ เอเซอิ ปราบกบฏพระอนุชาจนกลับขึ้นครองรัฐฉินสำเร็จ เขาได้เข้าร่วมทหารราบของรัฐฉินเพื่อไต่เต้าสู่ความฝันเป็นแม่ทัพใหญ่ ซึ่งสมรภูมิแรกที่เขาจะได้พบทั้งสหายใหม่และศัตรูที่ทรงพลังคือสงครามต้านรัฐเว่ยที่กำลังรุกคืบข้ามชายแดนมา

อ่านรีวิวภาคแรกเมื่อปี 2019 ได้ที่นี่ Kingdom: หนังประวัติศาสตร์จีนจากมังงะดัง ดี แต่ทิ้งความเสียดายไว้มากมาย

ยุครณรัฐของจีนหรือสงครามรวมแผ่นดินของจิ๋นซี อาจเป็นยุคที่น่าสนใจและมีพื้นที่ว่างให้ต่อเติมจินตนาการลงไปได้ เช่นเดียวกับยุคยอดนิยมอย่างสามก๊ก โดยสื่อยอดนิยมที่บ้านเราอาจพอรู้จักบ้างที่กล่าวถึงยุครณรัฐนั้นก็มีเช่น ทีวีซีรีส์ชุด ‘เจาะเวลาหาจิ๋นซี A Step Into the Past’ (2001) หรือหนัง ‘Hero’ (2002) ของจางอวี้โหมว (Zhang Yimou) แต่คงไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นศิลปินที่ไม่ใช่ชาวจีนจะจริงจังในการเล่าเรื่องยุคนี้ได้มากเท่ามังงะ ‘Kingdom’ ของอาจารย์ฮาระ ยาสึฮิสะ (Hara Yasuhisa)

โดยช่องว่างที่อาจารย์ฮาระเลือกสอดแทรกลงไปในประวัติศาสตร์ช่วงนี้คือตัวละครเด็กกำพร้าที่ฝันใหญ่อย่าง ชิน โดยอิงจากแม่ทัพรัฐฉินคนหนึ่งนามว่า หลี่ซิน ซึ่งปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์อยู่ไม่กี่ครั้ง เพื่อแทนสายตาของผู้อ่านเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ เอเซอิ หรือ อิ๋งเจิ้ง ยังเป็นเด็กหนุ่มจนขึ้นเป็น ฉินสื่อหวงตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้รวมแผ่นดินจีนสำเร็จเป็นคนแรก

Kingdom 2: Far And Away

ในหนังภาคแรกปี 2019 เราได้เห็นแรงขับดันของ ชิน (ยามาซากิ เคนโตะ – Yamasato Kento) และ เอเซอิ (โยชิซาวะ เรียว – Yoshizawa Ryô) ว่าเหตุใดพวกเขาถึงมีเป้าหมายที่ยากยิ่งแต่ก็ต้องไปให้ ถึงผ่านเหตุการณ์กลเกมอำนาจในรัฐที่พระอนุชาของเอเซอิชิงบัลลังก์พี่ชายจนกระทั่งเอเซอิต้องหนีตายจนไปเจอชินที่ชนบท จนชินต้องเสียเพื่อนรักในวัยเด็กไป และกลายเป็นการเดินทางช่วยเอเซอิเพื่อกลับไปชิงบังลังก์คืนมาพร้อมทั้งสหายใหม่อย่าง เต็น (ฮาชิโมโตะ คันนะ – Hashimoto Kanna) และราชินีคนป่า (นางาซาวะ มาซามิ – Nagasawa Masami)

ในภาคนี้หนังได้เปิดฉากด้วยการลอบสังหารเอเซอิและกล่าวถึงองค์กรนักฆ่าที่ชื่อชิยู ก่อนที่จะไปเล่าการไต่เต้าในกองทัพตั้งแต่เป็นทหารราบของ ชิน ที่ได้พบกับ เคียวไค หรือ เชียงเล่ย (เซอิโนะ นานะ – Seino Nana) ซึ่งในประวัติศาสตร์จะเป็นแม่ทัพชายคนสำคัญอีกคน ซึ่งเป็นการเดินเรื่องทั้งสองส่วนไปด้วยกันทั้งสมรภูมิแรกของชินกับการรับมือกองทัพรัฐเว่ย เพื่อเรียนรู้ว่าสงครามและทหารนั้นแท้จริงแล้วคืออะไร และทั้งการได้รู้ความโหดร้ายของสิ่งที่เรียกว่านักลอบสังหารชิยูที่จะกลายเป็นหมากสำคัญที่ทิ้งเชื้อไปถึงภาคถัดไป

Kingdom 2: Far And Away

โดยในฉากย้อนอดีตของเคียวไคเราจะได้เจอดาราสาว ยามาโมโตะ จิฮิโระ (Yamamoto Chihiro) มารับบทพี่สาวของเคียวไคด้วย ซึ่งถ้าใครจำได้ในปี 2016 สำนักพิมพ์ชูเอฉะเคยทำหนังสั้นฉลองให้ตัวมังงะโดยตอนนั้นเคียวไคที่โผล่มาเพียงไม่กี่วินั้น ก็รับบทโดยยามาโมโตะนี่เอง

ผู้กำกับซาโตะ ชินสุเกะ (Sato Shinsuke) ก็ยังเป็นมือหนึ่งในการดัดแปลงมังงะโดยเฉพาะสายโชเนนหรือมังงะเด็กผู้ชายมาทำหนังอยู่ดีแม้ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ซึ่งการทำหนังไตรภาค Kingdom ก็อาจนับเป็นโปรเจกต์ใหญ่สุดในชีวิตแกเลยก็ว่าได้ เพราะสเกลสงครามจีนยุคโบราณนี่มันบ้าพลังมาก แถมตัวมังงะยังมีความสุดขีดทั้งด้านฉากบู๊และฉากบุ๋นการจัดวางกลยุทธ์ขนาดใหญ่หลายทิศทางในสมรภูมิด้วย

ในภาคนี้เราจะได้เห็นสงครามย่อยคือการสู้ในรูปแบบกลุ่ม 5 คนที่เป็นหน่วยเล็กสุดของทหารราบที่มีผู้นำกลุ่มอย่างดาราหน้าทะเล้นที่ผมชอบมากอย่าง ฮามาทซึ ทากายูกิ (Hamatsu Takayuki) จากหนัง ‘One Cut of the Dead’ (2017) มาเป็นสีสันเล็ก ๆ ด้วย เราจะได้เห็นว่าคนจำนวนนิดเดียวจะแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อเจอกับรถม้าศึกที่กวาดทหารราบกระจุย จนถึงยุทธการแบบกองโจรเมื่ออยู่กลางสมรภูมิใหญ่ด้วย และไม่เพียงเท่านั้นผู้บัญชาการกองพันที่มีฉากสำคัญก็จะตอกย้ำความสำคัญของทหารทุกคนด้วย

และผู้กำกับซาโตะก็ยังได้นำเสนอการรบพุ่งของกองทัพขนาดใหญ่ระหว่างแม่ทัพของรัฐฉินและรัฐเว่ย ทำให้เห็นว่าจะฉากเล็กหรือฉากใหญ่เขาก็ยังสามารถนำเสนอได้อยู่หมัด แถมยังไม่ปล่อยให้พระเอกเราตายไมก์ไปไม่เป็นเพราะสร้างเวทีให้ชินได้มีส่วนช่วยจนได้ แบบลุ้นระทึกมาก ๆ

Kingdom 2: Far And Away

และในฉากจบของหนังภาคนี้เพื่อเชื่อมไปยังหนัง ‘Kingdom 3: Flame of Destiny’ ซึ่งจะเข้าฉายที่ญี่ปุ่นในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ผู้กำกับซาโตะก็ยังใช้การนำเสนอแบบหนังการเมืองชิงไหวชิงพริบได้น่าสนใจสุด ๆ ไม่ต่างจากพวกซีรีส์ ‘Game of Thrones’ เลยทีเดียว เชื่อว่าภาคต่อไปจะเป็นเกมศึกทั้งในรัฐ-นอกรัฐขับเคี่ยวกันมันแน่ ๆ

ส่วนที่น่าเสียดายมากเหมือนที่เคยพูดกันมาตลอดคือการแปลชื่อตัวละครจากญี่ปุ่นมันทำให้เทียบกับประวัติศาสตร์ยากไปนิด เพราะคนไทยน่าจะชินกับชื่อจีนมากกว่า ซึ่งตรงนี้คนแปลซับไทยจะไปดูมังงะฉบับภาษาไทยของสำนักพิมพ์สยามฯ ก็ได้ไม่ได้ยากเกินไปเลย

ประการต่อมาที่น่าเสียดายคือหนังทำฉากบู๊ฉากสงครามได้สนุกอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีฉากเวอร์ ๆ แบบเกมมุโซหรืออย่างในหนัง ‘Dynasty Warriors’ (2021) ที่หนึ่งคนฟันทหารกระเด็นเป็นสิบเป็นร้อยอะไรแบบนั้นเลย มันทำให้แฟนตาซีเกินไปนิด

และความน่าเสียดายสุดท้ายคือหนังญี่ปุ่นเคยเข้าฉายในโรงหนังอย่างต่อเนื่องในยุคหนึ่ง โดยเฉพาะ ‘Kingdom’ นี้เป็นหนังสงครามที่เหมาะฉายโรงมาก แถมภาค 2 นี้ที่ญี่ปุ่นฉายระบบไอแม็กซ์เสียด้วยซ้ำ แต่แฟนหนังญี่ปุ่นในไทยก็กลับต้องดูผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงแทนตั้งแต่ภาคแรกที่ข้ามไปลงขายในทรูไอดีเลย จนมาถึงภาคนี้ที่ลงเน็ตฟลิกซ์คนจึงได้พูดถึงกัน เสียดายจริง ๆ

Kingdom 2: Far And Away
Kingdom 2: Far And Away
Kingdom 2: Far and Away
บท
7.5
โปรดักชัน
7.5
การแสดง
7.5
ความสนุกตามแนวหนัง
8
ความคุ้มค่าการรับชม
8
จุดเด่น
หนังที่เอาฉากหลังจากยุครณรัฐของจีนที่เปิดช่องทั้งบู๊ทั้งบุ๋นได้สนุก มีโปรดักชันและการแสดงที่ถือว่าดีเมื่อเทียบกับหนังญี่ปุ่นในสเกลเดียวกัน
จุดสังเกต
ชื่อตัวละครแปลตามญี่ปุ่นทำให้ฟังเข้าหูยากไม่ชินกับประวัติศาสตร์จีน มีฉากแอ็กชันบางฉากที่โอเวอร์เกินเหตุ บุคลิกพระเอกมุทะลุเป็นแบบการ์ตูนญี่ปุ่นคนดูทั่วไปอาจไม่ชิน
7.5

The post [รีวิว] Kingdom 2: Far and Away สงครามทั้งเล็กใหญ่ กระจายสัดส่วนเล่าได้สุดมัน appeared first on #beartai.

You may have missed

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า