[Digital Parenting] ซื้อมือถือเครื่องแรกให้ลูกเมื่อไรดี?

‘สมาร์ตโฟน’ ที่ไม่มีพิษภัยสำหรับผู้ใหญ่ อาจเป็นตัวร้ายสำหรับเด็ก ๆ เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้ คือ หนึ่งในสาเหตุของโรคสมาธิสั้นและโรคการเรียนรู้บกพร่อง หากมีการใช้งานอย่างไม่เหมาะสมครับ แล้วพ่อแม่อย่างเรา ควร “ซื้อมือถือเครื่องแรกให้ลูก… เมื่อไรดี?” beartai ORIGINAL คลิปนี้เราแบไต๋สไตล์ Digital Parenting พร้อม 4 คำถามสำคัญช่วยประเมินความพร้อมของลูก ก่อนมีมือถือเครื่องแรก!
ควรซื้อมือถือให้ลูกตอนอายุกี่ขวบ?
อายุที่เหมาะสมสำหรับการมีสมาร์ตโฟน หรือ “มือถือเครื่องแรก” อยู่ที่ 10-12 ปี โดยตัวเลขนี้เราได้มาจาก ดร.แคทเธอรีน เพิร์ลแมน (Dr.Catherine Pearlman) ผู้เขียนหนังสือ First Phone ที่แนะนำการใช้งานอุปกรณ์ไอทีสำหรับเด็ก ๆ อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
ทั้งนี้ ดร.เพิร์ลแมน ให้เหตุผลว่า เด็ก ๆ ในช่วงอายุ 10-12 ปี ยังคงมีความใกล้ชิดกับพ่อแม่ และยินดีที่จะทำตามกฎกติกาการใช้งานมือถือ หรือพูดสั้น ๆ คือ “ยังเป็นไม้อ่อนดัดง่าย” อยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอายุ 10-12 ปี ยังคงมีการถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ แพทย์ นักจิตวิทยาเด็ก หรือแม้แต่ตัวพ่อแม่เอง นั่นก็เป็นเพราะว่า แต่ละครอบครัวมีความจำเป็นในการใช้งานมือถือที่แตกต่างกัน จนนำเรามาสู่ประเด็นต่อมา ว่า “เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีมือถือไว้ใช้จริงหรือ?” คำถามนี้ก็คงต้องย้อนกลับไปถามพ่อแม่ว่า “ต้องการให้ลูก ๆ มีมือถือไว้ทำอะไร?”
เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีมือถือไว้ใช้จริงหรือ?
ยกตัวอย่าง ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า เด็ก ๆ จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ การมีอุปกรณ์ไอทีไว้ใช้งาน คือ “เรื่องจำเป็น” ไม่ว่าสมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต หรือว่าคอมพิวเตอร์ ส่วนอุปกรณ์จะมีสเปกมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละครอบครัว แต่ ณ เวลานี้ ที่โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนแบบ On Site แล้ว สมาร์ตโฟนยังมีความจำเป็นมากแค่ไหน? ในการให้เด็ก ๆ พกติดตัวไปที่โรงเรียน
มุมมองของ ดร.เพิร์ลแมน บวกกับความเห็นที่ทีมงานแบไต๋ ผู้เป็นนักสำรวจโลกอินเทอร์เน็ต เราค่อนข้างมองไปในทิศทางเดียวกัน คือ เด็ก ๆ สามารถพกมือถือไปโรงเรียนได้ หากมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นการนัดพบเพื่อไปรับหลังเลิกเรียน หรือเด็ก ๆ ที่ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ การมีมือถือเอาไว้ใช้งานก็เป็นเรื่องที่น่าอุ่นใจ พ่อแม่จะได้ถามไถ่ได้ว่าอยู่ไหนแล้ว ถึงบ้านหรือยัง และหากคุยกันไว้ก่อน ก็สามารถส่องตำแหน่งของสมาร์ตโฟนลูกได้
เมื่อพิจารณาแล้ว เหตุผลด้านการศึกษาและการเดินทาง ล้วนมีน้ำหนักมากพอให้พ่อแม่ซื้อสมาร์ตโฟนให้ลูก ๆ ไว้ใช้งาน แต่ในขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งก็มีมุมมองว่า เด็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องมีมือถือก็ได้ เพราะพวกเขายังเด็กเกินไป และอาจแอบเล่นเกมระหว่างการเรียน
ในประเด็นนี้ ทีมงานแบไต๋มองว่า ในเมื่อเราเป็นพ่อแม่ และเป็นพ่อแม่ในยุคดิจิทัล เราก็ต้องเลี้ยงลูกแบบ Digital Parenting ให้เป็น หรือการใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูลูก ดังนั้น หากลูกของคุณยังไม่มีความยับยั้งชั่งใจในการเอามือถือออกมาเล่นในระหว่างเรียน นั่นแปลว่า ลูกของคุณอาจยังไม่มีความพร้อมในการมีมือถือเอาไว้ใช้งาน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ลูก ๆ ของเราพร้อมแล้ว สำหรับการมีมือถือเครื่องแรก? เรามี 4 คำถามง่าย ๆ มาให้พ่อแม่ลองประเมินกันดู
คำถามข้อที่ 1. ลูกของคุณมีพฤติกรรมอย่างไร? ในการใช้อุปกรณ์ไอทีของคนในครอบครัว
เช่น วันนี้หมดเวลาเล่นเกม หรือหมดเวลาดูยูทูบแล้ว หากเด็ก ๆ มีอารมณ์ฉุนเฉียว ร้องไห้ หรือต้องพูดกันนานให้เลิกใช้งาน คงมีคำตอบในใจแล้วครับว่าจะซื้อให้ตอนนี้หรือไม่
คำถามข้อที่ 2. นอกเหนือจากการใช้เวลากับอุปกรณ์ไอทีแล้ว ลูกของคุณได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นอีกหรือไม่?
เช่น วิ่งเล่น, อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับคนในครอบครัว ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้แน่ใจว่า มือถือจะเป็นเพียงอุปกรณ์สื่อสารที่อำนวยความสะดวกสำหรับลูก ๆ ไม่ใช่ “เพื่อนเล่น” ของพวกเขา
คำถามข้อที่ 3. ลูกของคุณมีหน้าที่หรือความรับผิดชอบอะไรบ้าง แล้วพวกเขาทำมันออกมาเป็นอย่างไร?
เช่น ลูก ๆ รับหน้าที่ในการจัดเตียงของตัวเองตอนเช้า, กรอกน้ำ, ช่วยเตรียมโต๊ะอาหารก่อนกินข้าว, รดน้ำต้นไม้ และงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ลูกช่วยได้ เพื่อฝึกความรับผิดชอบ และจะทำให้มั่นใจขึ้นได้ว่า ลูก ๆ จะสามารถดูแลสิ่งของที่ค่อนข้างมีราคาอย่างมือถือได้
คำถามข้อที่ 4. ในเวลาที่ลูกมีปัญหา หรือมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้น พวกเขามาขอความช่วยเหลือจากคุณหรือไม่?
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ลูก ๆ จะต้องเปิดใจกับพ่อแม่ และกล้าที่จะสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา เพราะเราไม่รู้เลยว่าในโลกอินเทอร์เน็ตที่กว้างใหญ่นี้ พวกเขาจะไปเจอเข้ากับคอนเทนต์แบบไหน หรือสื่อสารกับคนแบบไหนบ้าง การที่ลูก ๆ รู้สึกว่าตัวเองเจอเข้ากับปัญหา และอยากปรึกษาใคร พ่อแม่ต้องเป็นคนแรกที่ยืนอยู่ตรงนั้นเพื่อพวกเขา หรือแม้แต่ในกรณีที่ลูก ๆ ทำมือถือหาย พวกเขาต้องกล้าบอกกับพ่อแม่ อย่างน้อยก็ช่วยกันแก้ไขในการสั่งระงับเบอร์ เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้งาน
ตั้งกฎกติกาการใช้งาน
ทั้งนี้ เมื่อพ่อแม่ได้คำตอบแล้วว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรซื้อมือถือเครื่องแรกให้ลูกแล้ว นอกเหนือจากการค้นหาสเปก และราคาของมือถือแล้ว ก็ต้องตั้งกฎกติกาการใช้งานให้ชัดเจน ทั้งเวลาและสถานที่ที่ใช้งานได้ รวมถึงควรเขียนกฎกติกาเหล่านั้นลงบนกระดาษ และติดไว้ให้ลูก ๆ เห็นเสมอ เพื่อช่วยกันรักษาวินัย ทั้งเด็ก ๆ พ่อแม่ และทุกคนในครอบครัว ป้องกันอาการ “ตีเนียน” ของเด็ก ๆ หรืออาการ “หยวน ๆ” ของปู่ย่าตายายที่อยากจะตามใจหลาน และในเมื่อทุกคนตกลงกันแล้ว ก็ควรทำตามกฎกติกาให้เข้มแข็ง
ปกป้องลูก ๆ ด้วย Kids Mode
นอกจากนี้ หากพ่อแม่อยากป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ปัจจุบัน บางแอปก็มีโหมดสำหรับเด็ก เช่น Netflix Kids และ YouTube Kids หรือหากพ่อแม่และลูกใช้ระบบปฎิบัติการเดียวกัน ก็สามารถตั้งค่าเพื่อดูแลการใช้งานเครื่องของลูก ๆ ได้ เช่น Apple Family Sharing (คลิก) หรือ Google Family Link (คลิก) ซึ่ง beartai มีสอนการใช้งานไว้แล้ว ตามไปดูกันได้
ในส่วนของสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เขามีกฎอยู่แล้วว่า ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ใช้งาน ดังนั้น ในระหว่างรอเวลาให้ลูก ๆ เติบโตนี้ พ่อแม่ควรปลูกฝังทักษะดิจิทัลที่จำเป็น เพื่อเตรียมลูก ๆ ให้พร้อม สำหรับการใช้งานโซเชียลมีเดีย เช่น การไม่คลิกลิงก์แปลกปลอมที่อาจเป็นสแปม, การไม่ตั้งรหัสผ่านคาดเดาง่าย, การสังเกตข่าวปลอม รวมถึงมารยาทและการใช้ถ้อยคำบนโซเชียลมีเดีย
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดที่เด็ก ๆ จะมีมือถือไว้ใช้งานตั้งแต่อายุ 10-12 ปี หรือน้อยกว่านั้น หากมีเหตุจำเป็น ในฐานะพ่อแม่และคนในครอบครัว เราสามารถช่วยกันทำให้ลูก ๆ ใช้มือถือเครื่องแรกได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ด้วยการช่วยกันรักษากฎกติกาการใช้งานให้เข้มแข็ง และมองมือถือเป็นเครื่องมือสื่อสาร ไม่ใช่ “เพื่อนเล่น” ของลูก ๆ
The post [Digital Parenting] ซื้อมือถือเครื่องแรกให้ลูกเมื่อไรดี? appeared first on #beartai.