Review | TP-Link Deco XE75 Pro Mesh Wi-Fi ปล่อยคลื่น 6 GHz เน็ตแรงขึ้น แตะ 1000 Mbps ชิวๆ แบบไม่ต้องลุ้น

ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญกับชีวิตของเราเป็นอย่างมาก จนบางคนแทบจะขาดมันไม่ได้แล้ว แน่นอนว่าถ้าเราพูดถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้าน ก็มักจะนึกถึง Wi-Fi เป็นอย่างแรก แต่หลายคนมักจะเจอปัญหาสัญญาณไม่ทั่วถึง เน็ตช้า การมาถึงของ Mesh Wi-Fi ช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะติดตั้งง่าย ไม่ต้องเดินสาย ลดจุดอับสัญญาณ วันนี้ทีมงานจะพาไปดูหนึ่งใน Mesh Wi-Fi ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดกัน นั่นก็คือ TP-Link Deco XE75 Pro

Mesh Wi-Fi คืออะไร

แต่ก่อนเราจะไปดูรีวิว มาทำความรู้จัก Mesh Wi-Fi เบื้องต้นกันก่อน Mesh Wi-Fi คือระบบกระจายสัญญาณ Wi-Fi รูปแบบหนึ่งที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาของ Repeater (อุปกรณ์ทวนสัญญาณ) และการติดตั้ง Access Point แบบเดิม ๆ เพราะติดตั้งง่ายแบบ Repeater แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Access Point

ปกติแล้วเวลาที่เราติดอินเทอร์เน็ตที่บ้านผู้ให้บริการมักจะให้เราเตอร์มาเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถกระจายสัญญาณได้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งบ้าน วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมคือการเดินสาย LAN แล้วติดตั้ง Access Point

แต่หลายบ้านก็ไม่อยากเดินสาย จึงเลือกอีกวิธีอย่างการใช้ Repeater หรือ Range Extender มาช่วยขยายสัญญาณ แต่ความแรงอินเทอร์เน็ตที่ได้ก็ถูกลดทอนลงไปมากกว่าต่อตรงพอสมควร และทำให้มีชื่อ Wi-Fi หลายชื่อในบ้าน ทำให้เวลาที่เราเปลี่ยนพื้นที่การใช้งาน เช่น เดินจากชั้น 1 ไปชั้น 2 ต้องเสียเวลามาสลับ Wi-Fi เอง เพื่อให้เน็ตกลับมาแรงแบบเดิม

แม้ว่าเราจะตั้งให้เป็นชื่อเดียวกันเแล้วก็ตาม แต่ตัวระบบไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เลยไม่ได้มีการส่งงานต่อให้เราเตอร์ตัวข้างเคียง (Roaming) ทำให้เมื่อเราเดินออกไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ สัญญาณ Wi-Fi ก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ ต่างกับ Mesh Wi-Fi ที่อุปกรณ์ทุกตัวทำงานอยู่บนระบบเดียวกัน เลยมีการส่งงานต่อให้เราเตอร์ตัวอื่น ๆ ในระบบ

ทำให้เราเดินไปที่ไหนของบ้านก็ได้ระบบจะคอยสลับสัญญาณให้โดยอัตโนมัติ เสมือนว่ามี Wi-Fi แค่ตัวเดียวทั้งบ้าน และนอกจากนี้ยังสามารถบริหารจัดการระบบได้ในที่เดียว ไม่ต้องไปตั้งค่าทีละเครื่อง เหมือน Access Point ระดับสูงที่ใช้ในองค์กร หรือถ้าใครต้องการรู้ว่า Mesh Wi-Fi ทำงานยังไง ลองศึกษาได้จากบทความนี้

รีวิว TP-Link Deco XE75 Pro

มาถึงตัว Mesh Wi-Fi ที่เรานำมารีวิว TP-Link Deco XE75 Pro รุ่นที่ทีมงานนำมาทดสอบเป็นรุ่นแบบ 3 Pack โดยในกล่องก็มีมาให้ทั้งหมด 3 ตัว

ดีไซน์ / งานออกแบบภายนอก

ตัวกล่อง ด้านหน้าจะมีรายละเอียดฟีเจอร์คร่าว ๆ เช่น รองรับคลื่น 6 GHz รองรับพอร์ต LAN แบบ 2.5G และมีแบนด์วิดท์รวมในระบบสูงถึง 5.4 Gpbs

ตัวเครื่อง ดีไซน์ภายนอก Deco XE75 Pro จะใช้รูปทรงเป็นทรงกระบอกมีความสูง 16.9 ซม. หรือประมาณ 1 ไม้บรรทัดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 10.5 ซม. วัสดุใช้เป็นพลาสติก ABS สีขาวผิวหยาบประมาณนึง ช่วยให้การจับถือทำได้ง่าย ด้านบนใช้วัสดุเป็นพลาสติกสีดำเงา ทำเป็นรูปทรงกลมคล้ายรูปคลื่น

อุปกรณ์ภายในกล่องประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง คู่มือ Adapter จ่ายไฟ และสาย LAN 1 เส้น

ด้านใต้ตัวเครื่องมีช่องระบายอากาศยาวตลอดแนวของตัวเครื่อง พร้อมฉลากรายละเอียดของตัวเครื่อง ปุ่ม Reset และไฟแสดงสถานะ ที่บอกเลยว่าตอนกลางคืนสว่างแสบตามาก

ด้านหน้ามีข้อความที่บ่งบอกว่าเครื่องนี้ใช้ Wi-Fi 6E ด้านหลังมาพร้อมกับช่องที่เอาไว้ต่อกับอะแดปเตอร์จ่ายไฟ ช่อง LAN RJ45 จำนวน 3 พอร์ต โดย 1 พอร์ตเป็นแบบ 2.5 Gbps และอีก 2 พอร์ตเป็นแบบ 1 Gbps

โดยรวมแล้วยังคงคอนเซ็ปมินิมอลเหมือน Deco รุ่นอื่น ๆ ทำให้สามารถนำไปวางไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของบ้านได้กลมกลืน ไม่รู้สึกว่าอุปกรณ์ตัวนี้เป็นเราท์เตอร์ Wi-Fi ที่เสาเยอะยุบยับ

อะแดปเตอร์จ่ายไฟมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ยังไงก่อนนำไปติดตั้งก็อย่าลืมสำรวจปลั๊กที่จะเสียบด้วย

วิธีการติดตั้ง

Deco XE75 Pro สามารถตั้งค่าได้ผ่านแอป Deco บนโทรศัพท์มือถือได้ เพื่อให้ผู้ใช้ที่ไม่เก่งด้านคอมพิวเตอร์หรือ อินเทอร์เน็ตมาก ก็สามารถตั้งค่าด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ

เมื่อเปิดกล่องจะพบว่ามีตัวเครื่องอยู่ทั้งหมด 3 เครื่อง เราสามารถเลือกใช้ Node ไหนก็ได้ทำงานเป็นตัวหลัก และ Node ตัวอื่นๆ จะทำหน้าที่เป็น Access Point เองแบบอัตโนมัติ

หลังจากที่เชื่อมต่ออุปกรณ์จ่ายไฟแล้ว รอให้ตัวเครื่องเข้าสู่โหมด Pairing หรือรอจนกว่าไฟสีฟ้าเริ่มกะพริบ จากนั้นให้เข้าไปโหลดแอป Deco จาก App Store หรือ Play Store และสร้างบัญชีให้เรียบร้อย

เปิดแอป Deco และเริ่มทำการเพิ่ม Node ในระบบได้เลย แต่ต้องเปิด Bluetooth ที่โทรศัพท์เราด้วยนะ จากนั้นทำตามขั้นตอนที่ขึ้นในหน้าจอ ตรงนี้เลือกรุ่นให้ถูกต้องด้วยนะ เพราะหน้าจอจะได้แนะนำการตั้งค่าได้ถูกต้อง

เมื่อระบบเจอตัวเครื่อง Deco XE75 Pro แล้ว จากนั้นเราก็แค่กดถัดไปเรื่อย ๆ และทำการตั้งชื่อ Wi-Fi และรหัสผ่านให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จ บอกเลยง่ายมาก ๆ

จากนั้นตัวแอปจะถามเราว่าต้องการเพิ่ม Node อื่นด้วยไหม อันนี้แนะนำว่าควรเพิ่มให้จบ ๆ ครบทุก Ndoe ไปเลยแล้วค่อยนำไปติดตั้งหลังจากเข้าระบบครบทุกเครื่องแล้ว จะทำใช้เวลาการตั้งค่าน้อยกว่ามาก ๆ เพราะตัวเครื่องไม่ต้องค้นหาสัญญาณไกล ๆ ให้ลำบาก

การตั้งค่าใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน Deco

Deco XE75 Pro มาพร้อมกับแอปพลิเคชัน Deco สำหรับตั้งค่า และบริหารจัดการระบบ Wi-Fi ของเรา ตัวเมนูใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องมีความรู้ด้านไอทีมากก็สามารถตั้งค่าได้ แน่นอนว่าตัวแอปใช้งานง่ายก็จริง แต่สำหรับผู้ที่มีความรู้ด้านเน็ตเวิร์คอาจจะรู้สึกว่ามันตั้งค่าได้น้อยเกินไปหน่อย

หน้าแรก

หน้าแรกจะเป็นการแสดงสถานะการใช้งานของเครือข่ายของเรา เช่นการแสดงสถานะการทำงานของอุปกรณ์ จำนวนผู้ใช้งาน การตั้งรหัส Wi-Fi และการตั้งค่า Guest Network

การตั้งค่า Wi-Fi และวิธีเปิดคลื่น 6 GHz

ในหน้านี้เราสามารถตั้งชื่อ ตั้งรหัสผ่านของ Wi-Fi ของเราได้รวมถึงการตั้งค่าคลื่นความถี่ที่ใช้งานด้วยว่าจะเปิดใช้คลื่นความถี่ไหนบ้าง 2.4, 5, 6 GHz

โดยการตั้งค่าเดิมจากโรงงานคลื่น 6 GHz จะถูกตั้งค่าสำหรับใช้เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างอุปกรณ์เท่านั้น ไม่ได้เปิดให้เราใช้แต่อย่างใด ถ้าต้องการให้โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เราต่อคลื่น 6 GHz ได้ ต้องเลือกเป็น เครือข่าย Wi-Fi และ Backhaul ก่อน

การตั้งค่าเพิ่มเติม

ถัดมาจะเป็นการตั้งค่าอื่น ๆ เช่น การเปิดใช้ Wi-FI แยกสำหรับอุปกรณ์ IoT การตั้งค่าผู้ดูแลระบบ WPS การเปิด-ปิดไฟสถานะที่ตัวเครื่อง และการอัปเดตซอฟต์แวร์

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพ Wi-Fi ง่าย ๆ เพียงแค่การกดทีเดียวด้วย โดยจะเป็นการตรวจสอบช่องสัญญาณ (Channel) ในพื้นที่ และหาช่องสัญญาณที่ดีที่สุดในเราแบบอัตโนมัติ

หัวข้อการตั้งค่าขั้นสูง จะสามารถปรับโหมดการทำงานของระบบได้ ว่าจะใช้เป็นเราท์เตอร์โหมด หรือ Access Point Mode การตั้งค่า DHCP และอีกสองหัวข้ออย่าง Fast Roaming และ Beamforming ก็แนะนำให้เปิดไว้ทั้งสองอันเพื่อให้ใช้งาน Wi-Fi ได้อย่างราบลื่นไม่มีสะดุดเวลาที่เราย้ายที่ใช้งาน เดินไปตามจุดต่าง ๆ ของบ้าน

  • Router Mode หรือโหมดที่ตั้งค่าให้ Deco ของเราผู้จัดการเครือข่ายแทนเราท์เตอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พร้อมกระจายสัญญาณ Wi-Fi คือรับทุกอย่างมาทำเองทั้งหมดประมาณนั้น ซึ่งมีข้อดีที่ช่วยให้เครือข่ายของเรามีประสิทธิภาพที่มากขึ้นกว่าเดิม และทำให้สามารถใช้ฟีเจอร์เต็มของ Deco ได้ และถ้าต้องการทำ Bridge Mode ต้องใช้โหมดนี้เช่นกัน
  • Access Point Mode เป็นโหมดที่เหมาะสำหรับนำไปต่อพ่วงกับระบบเน็ตเวิร์คเดิมที่เรามีอยู่ ให้เราท์เตอร์เดิมเป็นผู้ตัดสินใจ หรือให้เราท์เตอร์จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นผู้บริาหารจัดการ ตัว Deco ทำหน้าที่แค่กระจายสัญญาณ Wi-Fi เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถใช้งานบางฟีเจอร์ได้

Homeshield

เป็นระบบรักษาความปลอดภัย และระบบบริหารจัดการจากทาง TP-Link ช่วยให้เครือข่ายในบ้านปลอดภัยด้วยฟีเจอร์ที่ล้ำสมัย ช่วยปกป้องอุปกรณ์ทุกเครื่องในระบบเครือข่ายของเรา ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ มือถือ หรืออุปกรณ์ IoT

ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันฟรี และเวอร์ชันสมาชิกรายเดือนให้เลือกใช้งาน ส่วนฟีเจอร์หลัก ๆ ของ Homeshield มีดังนี้

  • Network Security ให้คิดว่าสิ่งนี้คือ Antivirus ของระบบเครือข่าย ช่วยป้องกันมัลแวร์ และภัยทางไซเบอร์รูปแบบต่าง ๆ
  • Parental Controls ระบบบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตของบุตรหลาน เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าเว็บไซต์ไม่เหมาะสม หรือจำกัดเวลาเล่นอินเทอร์เน็ตต่อวัน เป็นต้น
  • Quality of Service (QoS) หรือระบบจัดลำดับความสำคัญของการใช้งาน เป็นการกำหนดว่าเครื่องไหนมีความสำคัญมากหรือน้อยในระบบ ถ้าเครื่องไหนถูกกำหนดให้มีความสำคัญมากเครื่องนั้นก็จะมีสิทธิ์ส่งข้อมูลก่อน หรือเป็นการกำหนดว่าข้อมูลแบบไหนจะมีสิทธิ์ไปก่อน
  • Comprehensive Reports ระบบจัดทำรายงานแบบละเอียด เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าเครื่องไหนใช้งานอะไรบ้าง

การตั้งค่าผ่านช่องทางอื่น ๆ

ส่วนการเข้าไปตั้งค่าผ่านหน้าเว็บจะทำอะไรไม่ได้เยอะเหมือนบนแอปในมือถือ หรือแทบจะตั้งค่าอะไรไม่ได้เลย ใช้แค่ดูสถานะของอุปกรณ์เท่านั้น บอกเลยว่าสำหรับสาย Geek ทั้งหลายที่ต้องการเข้าไปตั้งค่าอุปกรณ์อย่างละเอียดอาจจะผิดหวังได้ เพราะว่าสิ่งนี้มีเหมือนไม่มี ใช้แอป Deco บนมือถือครบจบกว่า

การทดสอบประสิทธิภาพ Deco XE75 Pro

หัวข้อนี้แบ่งการทดสอบออกเป็นหลาย ๆ แบบ ตามการใช้งานจริง ๆ โดยทำการติดตั้ง Deco XE75 Pro ไว้ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้าน สำหรับบ้านที่เราใช้ทดสอบจะเป็นรูปแบบทาวน์โฮม 3 ชั้น พื้นที่ 220 ตรม. วางเฟอร์นิเจอร์ไว้แบบหลวม ๆ ติดตั้ง Mesh Wi-Fi ไว้ชั้นละ 1 ตัว ระยะห่างต่อตัวประมาณ 5-10 เมตร

ส่วนอินเทอร์เน็ตจะเข้าที่ชั้น 3 ความเร็ว 1000 / 500 Mbps ของ AIS ทำให้รูปแบบการส่งต่ออินเทอร์เน็ตของระบบจะเป็นแบบ Daisy Chain ลากยาวต่อไปเรื่อย ๆ ตามภาพ

แผนผังการวางตำแหน่ง

หัวข้อการทดสอบจะแบ่งเป็น การทดสอบความเร็ว (Speed) การทดสอบค่าความหน่วง (Latency) และการทดสอบใช้งานจริง เพื่อรีดพลังของเราท์เตอร์ออกมาสูงสุด

อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบ

  • iPad Pro 11″ ชิป M1 ทดสอบผ่านตัวแปลง USB-C To LAN ความเร็ว 1 Gbps
  • iPhone 14 Pro สำหรับทดสอบ Wi-Fi 6 คลื่น 5 GHz
  • Samsung S24 Ultra สำหรับทดสอบ Wi-Fi 6E คลื่น 6 GHz
  • คอมพิวเตอร์ การ์ด Wi-Fi 6E ชิป Intel AX211

ผลการทดสอบความเร็ว (Speed)

หัวข้อนี้จะทำการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตด้วยแอป Speedtest by Ookla แบ่งตามรูปแบบการเชื่อมต่อต่าง ๆ ประกอบไปด้วย สาย LAN, Wi-Fi 6 และแบบ Wi-Fi 6E และตามพื้นที่นำเราท์เตอร์ไปติดตั้งเพื่อดูว่าสัญญาณดรอปลงขนาดไหน หากใช้งานรูปแบบ Mesh Wi-Fi เต็ม ๆ

ชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3
Download Upload Download Upload Download Upload
LAN 97 122 435 493 937 568
Wi-Fi 5 GHz 100 66 283 240 721 519
Wi-Fi 6 GHz 221 125 358 233 921 579

จากผลการทดสอบจะเห็นว่าบริเวณชั้น 3 ที่อินเทอร์เน็ตเข้านั้น ความเร็วที่ได้ทำออกมาได้น่าประทับใจมากประมาณ 700 Mbps บนคลื่น 5 GHz และถ้าตัวเครื่องรองรับ Wi-Fi 6E สามารถรับคลื่น 6 GHz ได้บอกเลยว่าได้ความแรงที่ได้แทบจะไม่ต่างกับการใช้สาย LAN เลย ประมาณ 900 Mbps หรือหมายความว่าสามารถรีดความเร็วของแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต 1000/500 Mbps ออกมาได้หมดทุกเม็ด

แต่ต้องบอกตรงนี้นิดนึงว่าความเร็วที่ทดสอบได้จะตันอยู่ประมาณ 930 Mbps อยู่แล้ว เนื่องจากอินเทอร์เน็ตที่ทดสอบมีความเร็วอยู่ที่ 1000 Mbps และพอร์ต LAN ของเราท์เตอร์ของทาง AIS ก็เป็นแบบ 10/100/1000 ด้วย ถ้าพอร์ต LAN ของเราท์เตอร์ของทาง AIS เป็นแบบ 2.5G เราอาจจะได้เห็นความเร็วอินเทอร์เน็ตวิ่งเกิน 1000 Mbps ได้ไม่ยากแน่นอน

ส่วนการทดสอบความเร็วในชั้นอื่นของบ้านพบว่า ความเร็วดรอปลงค่อนข้างมาก ยิ่งบริเวณชั้น 1 ที่อยู่ไกลจากต้นทางที่สุด ยิ่งดรอปเยอะ แต่ถามว่าเพียงพอกับการใช้งานทั่วไปหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเพียงพอใช้งานได้สบาย ๆ สามารถดู Netflix 4K HDR ได้ แต่สำหรับการโหลดไฟล์ และการเล่นเกมอาจจะไม่ได้ประสบการณ์ที่ดีสักเท่าไหร่

ทดสอบแยกตามอุปกรณ์

นอกจากนี้ยังได้ทดสอบการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 คลื่น 5 GHz แยกตามอุปกรณ์ด้วย เพราะอุปกรณ์แต่ละตัวรับสัญญาณได้ไม่เท่ากัน แต่ตัวเครื่องพีซีจะไม่ได้ยกไปทดสอบตามชั้นต่าง ๆ เหมือนโทรศัพท์มือถือนะครับ

ชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3
Download Upload Download Upload Download Upload
iPhone 14 Pro 87.6 24.7 247 198 572.3 464.6
iPad Pro 11 M1 108.6 99.4 257 268 625.3 384.3
Galaxy S24 Ultra 104.1 74.1 347 254.6 806 590
PC 0 0 0 0 778.3 556.6

จากผลการทดสอบพบว่า Galaxy S24 Ultra รับสัญญาณได้ดีที่สุด โดยได้ความเร็วสูงถึง 800 Mbps เลยทีเดียว ใกล้เคียงกับความเร็วที่สูงสุดที่ทดสอบได้บนเครื่องพีซีที่มีเสาอากาศใหญ่กว่า และกำลังส่งเยอะกว่า ส่วนอุปกรณ์อื่นที่รุ่นเก่ากว่าก็ทำได้ตามค่าเฉลี่ยราว ๆ 600 Mbps ซึ่งถือว่ามากเพียงพอกับทุกการใช้งานแล้ว

ผลการทดสอบค่าความหน่วงเวลา (Latency)

หัวข้อนี้จะเป็นการค่าความหน่วงเวลาแบ่งตามรูปแบบการเชื่อมต่อต่าง ๆ ประกอบไปด้วย สาย LAN, Wi-Fi 6 และแบบ Wi-Fi 6E และตามพื้นที่นำเราท์เตอร์ไปติดตั้งเพื่อดูว่าสัญญาณมีความเสถียรขนาดไหน ผ่านแอป Fing และบนพีซีผ่าน CMD โดยทดสอบ 2 รูปแบบ คือ Ping ภายในไปยังเราท์เตอร์ AIS และ Ping ภายนอกไปยัง Google DNS 8.8.8.8

LAN Wi-Fi 5 GHz Wi-Fi 6 GHz
Internal external Internal external Internal external
ชั้น 1 10 78 18 88 16 88
ชั้น 2 6.5 68.3 12.3 82.5 14.6 84.3
ชั้น 3 0.9 63 7.7 80.5 5.3 76.2

จากผลการทดสอบ พบว่าค่า Latency ในระบบไม่ได้สูงมาก แม้ว่าจะทดสอบที่ Node ที่อยู่ไกลที่สุดก็ตาม ส่วนการ Ping ไปด้านนอกก็ทำได้ตามค่ามาตรฐาน ปกติ DNS Google ที่สิงคโปร์มีค่าประมาณนี้อยู่แล้ว

แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่บ้างอย่าง ค่า Latency ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยเมื่อระยะทางเพิ่มขึ้น พื้นที่ชั้น 1 มีค่า Latency สูงกว่าพื้นที่ 3 ชั้น และระหว่างการทดสอบมีช่วงที่ค่า Ping มีการแกว่งขึ้นลงบ่อยมาก บางทีมีแตะ 600 ms เลย เรียกได้ว่านี่เป็นหนึ่งในข้อจำกัดของ Mesh Wi-Fi เลย ที่มักจะมีค่า Latency ในระบบสูงกว่าระบบกระจายสัญญาณแบบอื่น

ทดสอบใช้งานทั่วไป

เริ่มด้วยการทดสอบการใช้งานทั่วไปพบว่าใช้งานได้ลื่นไหลเน็ตแรงทั่วบ้าน จะเล่นโซเชียล หรือดูสตรีมมิ่ง 4K บนทีวีก็ทำได้สบาย ๆ ไม่มีอาการสะดุดแต่งอย่างใด จะกดดูพร้อมกันตรงส่วนไหนของบ้านก็ยังไหวอยู่ ไม่ได้รอหมุนนานมาก ทดสอบกับอุปกรณ์ IoT และกล้องวงจรปิด ก็พบว่าทำงานได้ดี ตอบสนองได้เร็ว ไม่ต่างกับใช้เราท์เตอร์ตัวเดียว

ทดสอบเล่นเกม

League of Legend และ Genshin Impact ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้าน พบว่าเล่นได้ในอยู่ในระดับที่พอเล่นได้ อาจจะมีอาการ Ping พุ่งกระฉูดบ้างบางเวลา จนทำเกมค้างไปเลยก็มี แต่ก็เข้าใจได้เพราะเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของ Mesh Wi-Fi ที่ไม่เหมาะจะนำมาเล่นเกมอยู่แล้ว เอาไว้เล่นแก้ขัด พวกเกมที่ไม่ใช่แนว E-Sport

ทดสอบการสลับสัญญาณ (Fast Roming)

พบว่าทำได้ลื่นเนียนจนแทบไม่รู้สึกว่ามีการตัดต่อสัญญาณ หรือมีการสลับระหว่างตัว Mesh ทดสอบโดยการดู Live Steam ความละเอียด 1080p และทดสอบ Video Cal แล้วเดินจากชั้น 3 ไป ชั้น 1 พบว่าทำได้ดีไม่มีสะดุดดีเลย์

ทดสอบสัญญาณในพื้นที่อับสัญญาณ

การทดสอบนี้เป็นการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตในพื้นที่อื่น ๆ ของบ้าน ที่อยู่สุดขอบของบ้าน เช่น ระเบียงหลังบ้าน หรือบริเวณหน้าบ้าน หรือบริเวณสวนสาธารณะที่อยู่ติดกับข้างบ้าน พบว่าที่ระยะ 10 เมตรจากตัวเราท์เตอร์ยังคงใช้งานได้ความเร็วประมาณ 60 Mbps ส่วนถ้าขยับออกไปประมาณ 20 เมตร ความเร็วจะเหลือประมาณ 40 Mbps

ซึ่งก็ถือว่าทำได้ไม่แย่มาก ยังพอใช้งานทั่วไปได้สบาย ๆ แต่การดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ หรือการเล่นเกมนั้นจะมีปัญหาบ้าง ถ้าต้องการใช้งานจริงจังอาจจะเพิ่มตัว Mesh Wi-Fi อีกตัว ที่เป็นรุ่นที่ไม่สูงมากเพื่อมาช่วยกระจายสัญญาณก็ได้เหมือนกัน ได้ความเร็วเพิ่มเกิน 100 Mbps แน่นอน

ทดสอบคลื่นความถี่ใหม่ 6 GHz

คลื่นความถี่ Wi-Fi ที่ใช้งานในปัจจุบันในไทยจะมีอยู่ทั้งหมด 3 คลื่นด้วยกัน ประกอบไปด้วยคลื่น 2.4 GHz, 5 GHz และ 6 GHz ที่เป็นมาตรฐานใหม่ ช่วยให้การรับ-ส่งข้อมูลนั้นเร็วมากขึ้น ซึ่ง Deco XE75 Pro สามารถปล่อยคลื่นความถี่ 6 GHz ให้เราใช้งานได้ด้วย เนื่องจากรองรับมาตรฐาน Wi-Fi 6E

ในช่วงเวลาที่ทำการทดสอบ ต้องบอกก่อนว่าคลื่น 6 GHz สามารถใช้งานได้แค่บางอุปกรณ์เท่านั้น เช่นโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการ์ด Wi-Fi 6E หรือสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่รุ่นท็อปเท่านั้น

แม้ว่าฮาร์ดแวร์จะรองรับ Wi-Fi 6E แล้วก็ตาม แต่สมาร์ทโฟนหลายรุ่นยังไม่สามารถใช้งานคลื่น 6 GHz ได้ในตอนนี้ เช่น iPhone 15 Pro Max เนื่องจากซอฟต์แวร์ยังปิดความสามารถตรงนี้ไว้ (ณ ช่วงเวลาที่ทดสอบ)

ทดสอบใช้งาน

การทดสอบแรกจะเป็นการทดสอบ Speedtest ความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องพีซีที่ใส่การ์ด Wi-Fi 6E ชิป Intel AX211 เอาไว้ พบว่าสามารถทำความเร็วได้ประมาณ 1,000 Mbps ซึ่งเร็วกว่าตอนใช้ Wi-Fi 6 คลื่น 5 GHz ที่ได้ความเร็วประมาณ 800 Mbps จากผลลัพธ์เรียกได้ว่าเน็ตแรงขึ้นกว่าเดิมพอสมควรเลย

แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าระยะสัญญาณของคลื่น 6 GHz จะค่อนข้างสั้น การทะลุกำแพง ไม่ค่อยดี ถ้าทดสอบที่บริเวณหลังบ้านผ่านกำแพงประมาณ 3 ชั้น ความเร็วดาวน์โหลดจะเหลือประมาณ 66 Mbps อัปโหลดประมาณ 29 Mbps เรียกได้ว่าความเร็วหายไปพอสมควรเลย ดังนั้นเลยไม่ค่อยแนะนำให้ใช้คลื่น 6 GHz ตอนอยู่ไกลจากเราท์เตอร์สักเท่าไหร่

ข้อดีของคลื่น 6 GHz

  • เป็นคลื่นความถี่ใหม่ของระบบ Wi-Fi
  • มีความกว้างของช่องสัญญาณที่มากกว่าคลื่น 5 GHz
  • มีแบนด์วิทธ์รวมสูงกว่าคลื่น 5 GHz มาก
  • ความเร็ว Thoughput สูงกว่าเดิม
  • สัญญาณถูกรบกวนได้ยาก เพราะในตอนนี้มีจำนวนผู้ใช้งานคลื่น 6 GHz น้อย

ข้อสังเกตของคลื่น 6 GHz

  • ระยะสัญญาณสั้นกว่าคลื่น 5 GHz
  • อุปกรณ์ที่รองรับคลื่น 6 GHz ยังมีไม่มากในไทย
  • ทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางไม่ค่อยดี

สรุป

หลังจากที่ได้ทดลองใช้งาน Deco XE75 Pro มาสักพักพบว่า อุปกรณ์ทำงานได้ดีมีความเสถียรในระดับที่ไว้ใจได้ ไม่มีอาการค้าง แฮงค์ ระบบรวนกวนใจเลยแม้แต่น้อย คุณภาพ Wi-Fi ที่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ การใช้งานทั่วไปทำได้ลื่นไหล สามารถใช้งานได้พร้อมกันสบาย ๆ ไม่ได้รับเสียงบ่นจากสมาชิกที่บ้านเลยเป็น Mesh Wi-Fi ตัวจบของปี 2024 เลยก็ได้

ความเร็วอินเทอร์เน็ตทำออกมาได้น่าประทับใจทั้งคลื่น 5 GHz ที่วิ่งได้เกิน 600 Mbps และคลื่น 6 GHz ที่วิ่งไปแตะขีดจำกัด 1000 Mbps ได้อย่างไม่ยากเย็นเป็นหนึ่งใน Wi-Fi ที่เร็วที่สุดที่เคยเห็นมาแล้ว

ถ้าดูประสิทธิภาพของระบบในพื้นที่ไกลสุด ที่เป็นจุดอ่อนในระบบอย่างพื้นที่ชั้น 1 ก็พบว่าได้ความเร็วอยู่ระดับ 100 Mbps ซึ่งความเร็วระดับนี้มากเพียงพอสำหรับการใช้งานในหนึ่งครอบครัว (ประมาณ 6 คน) ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ต

Deco XE75 Pro เหมาะกับใคร

เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการขยายวง Wi-Fi ให้มีพื้นที่ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น ด้วยวิธีการที่ง่ายเหมือนกับการเล่น Line แถมใช้งานสะดวกไม่ต้องคอยมาสลับชื่อ Wi-Fi ให้เสียอารมณ์ หรือเหมาะกับบ้านที่ไม่สะดวกเดินสายแลนไปยังส่วนต่างๆ ของบ้าน Mesh Wi-Fi สามารถซื้อไปเสียบปลั๊ก แก้ปัญหาจุดอับสัญญาณได้ทันที

แต่สำหรับ Deco XE75 Pro ส่วนตัวมองว่าสเปคที่ให้มานั้นมากเกินความจำเป็นไปหน่อย เพราะอุปกรณ์ที่ใช้งาน Wi-Fi 6E ในไทยยังมีไม่มาก ซื้อมาอาจจะใช้คลื่น 6 GHz ไม่ได้ทุกอุปกรณ์ อาจจะไม่คุ้มหรือเปล่า สู้ประหยัดเงินไปซื้อรุ่น Wi-Fi 6 อย่าง Deco X60 ที่ราคาถูกกว่าหลายพันบาทแทนก็ได้ ผลลัพธ์ที่ได้ส่วนตัวมองว่าไม่ต่างกันมาก ถ้าใช้งานแค่คลื่น 5 GHz ขวัญใจมหาชน

ถ้าจะให้พูดจริง ๆ Deco XE75 Pro เหมาะสำหรับผู้ใช้งานแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็ว 1000 Mbps ขึ้นไปมากกว่า หรือใครที่อยากลองของใหม่คลื่น 6 GHz และมีอุปกรณ์ที่รองรับก็เป็นอะไรที่น่าลองไม่น้อยเลย

หรือเกมเมอร์ที่ต้องการเล่นเกมบน Wi-Fi แล้วอยากได้ความเสถียรที่เพิ่มขึ้น คลื่น 6 GHz ก็เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ เพราะมีคนใช้น้อย คลื่นรบกวนต่ำ ลดอาการ Ping พุ่งได้ค่อนข้างมากเหมือนกัน หรือถ้าใครนึกภาพไม่ออกลองดูหัวข้อ Checklist

เหมาะกับ

  • บ้านที่มีปัญหาจุดอับสัญญาณ
  • ต้องการติดตั้งระบบง่าย ๆ ไม่ต้องเดินสาย LAN
  • ต้องการวิธีการตั้งค่าระบบง่าย ๆ เหมือนเล่น Line
  • เคลื่อนย้าย Node ไปขยายสัญญาณตามที่ต่าง ๆ บ่อย ๆ
  • อยากใช้คลื่น 6 GHz
  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วมากกว่า 1000 Mbps
  • ไม่ได้ซีเรียสว่าต้องใช้อินเทอร์เน็คความเร็วสูงสุดตลอด ขอแค่ใช้ได้ก็พอ

ไม่เหมาะกับ

  • อุปกรณ์ไม่รองรับคลื่น 6 GHz
  • ใช้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำกว่า 1000 Mbps
  • ผู้ที่เล่นเกมผ่าน Wi-Fi เป็นประจำ
  • ชอบกด Speedtest บ่อย ๆ และคาดหวังให้ Wi-Fi แรงเท่ากันทุกที่
  • รับได้ในข้อจำกัดของอุปกรณ์ประเภทนี้
  • เน้นความคุ้มค่า

ควรซื้อกี่ตัว

สำหรับบ้านที่ไม่ใหญ่มาก เช่น บ้านเดี่ยวขนาดกลาง บ้านทาวน์โฮม 2 ชั้น หรือเล็กกว่า คิดว่า 2 Node ก็เพียงพอ แต่สำหรับบ้านที่มีขนาดใหญ่ หรือบ้านที่มี 3 ชั้น ควรที่จะซื้อแบบ 3 Node จะเหมาะสมกว่า ไม่ต้องกังวลว่าสัญญาณจะครอบคลุมทั่วบ้านไหม

หรือถ้างบเหลือจะใช้ห้องละ 1 ตัวก็ได้ แต่ตัวหลักที่วางในแต่ละชั้นควรเป็นรุ่นระดับสูง เพื่อทำหน้าที่เป็น Gateway ในการรับ-ส่งข้อมูลข้ามชั้น ส่วน Node ย่อยที่ติดตั้งในแต่ละห้อง จะซื้อรุ่นธรรมดาราคาไม่แพงหลาย ๆ ตัว เพื่อเน้นจำนวนทดแทนก็ได้

สิ่งที่อยากฝากก่อนจะตัดสินใจใช้ Mesh Wi-Fi

อย่างแรกคือการรู้ว่าส่วนไหนของบ้านใช้อินเทอร์เน็ตเท่าไหร่ ใช้งานแบบไหน เช่น ใช้งานทั่วไป เล่นเน็ต ดูหนัง เล่นเกม หรือโหลดบิท เพราะ Mesh Wi-Fi มีข้อจำกัดบางอย่างที่อาจจะไม่เหมาะสำหรับการใช้งานบางประเภท

อย่างการเล่นเกม และการโหลดไฟล์ขนาดใหญ่เป็นประจำ หรือถ้าซีเรียสเรื่องความเร็ว และค่า Latency ก็ควรใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสายและยอมลงทุนเดินสาย LAN ไปตามส่วนต่าง ๆ ของบ้านจะจบกว่า

ส่วนพื้นที่ใช้งานทั่วไป ไม่ได้ซีเรียสเรื่องความเร็ว และค่า Lantency สามารถใช้ Mesh Wi-Fi ได้ เช่น พื้นที่ห้องนั่งเล่นที่มักจะดู Netfilx ผ่านทีวีเป็นประจำ หรือห้องนอนของพ่อ-แม่ที่ไม่ได้สนใจเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ต สนใจว่าเล่นได้หรือเปล่ามากกว่าอะไรแบบนี้ “Mesh Wi-Fi ติดตั้ง Setup ง่ายก็จริง แต่ออกแบบดีไซน์ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดยาก ข้อจำกัดเยอะ”

ข้อดีของ Deco XE75 Pro

  • ระบบทำงานเสถียร
  • ติดตั้งง่าย
  • แอปใช้งานง่าย
  • Wi-Fi บนคลื่น 6 GHz ความเร็วสูงมาก
  • คลื่น 6 GHz ไม่ค่อยมีผู้ใช้งาน สัญญาณรบกวนต่ำ
  • ระบบ Roaming ทำได้ดีมาก สลับสัญญาณเร็ว ใช้งานไม่มีสะดุด
  • สัญญาณครอบคุลมพื้นที่กว้างมาก รับมือบ้านขนาดใหญ่ได้

ข้อสังเกตของ Deco XE75 Pro

  • ระยะทำการคลื่น 6 GHz ค่อนข้างสั้น
  • อุปกรณ์ที่รองรับคลื่น 6 GHz มีน้อย
  • ราคาสูง
  • มีข้อจำด้านประสิทธิภาพในบางพื้นที่
  • ค่า Ping มีอาการแกว่งขึ้นลง ไม่เหมาะกับการเล่นเกมแนว E-Sport
  • ไม่รองรับการตั้งค่าระบบแบบลึก ๆ เช่น การปรับช่องสัญญาณแบบ Manual

สเปคของ Deco XE75 Pro

  • Wi-Fi 6E
    • IEEE 802.11ax 6 GHz
    • IEEE 802.11a/n/ac/ax 5 GHz
    • IEEE 802.11b/g/n/ax 2.4 GHz
  • WiFi Speeds AXE5400 Tri-Band
    • 6 GHz: 2402 Mbps (802.11ax, HE160)
    • 5 GHz: 2402 Mbps (802.11ax, HE160)
    • 2.4 GHz: 574 Mbps (802.11ax)
  • WiFi Transmission Power             
    • <20 dBm (2.4 GHz)
    • <23 dBm (5 GHz)
    • <23 dBm (6 GHz)
  • WiFi Range สูงสุด 670 ตรม.
  • เสาอากาศ : 4 เสา High-Gain
  • MU-MIMO 2×2 (6 Streams)
  • Beamforming : Yes
  • OFDMA : Yes
  • VPN Server / VPN Client : Yes
  • WiFi Encryption  WPA3-Personal
  • Ethernet Ports    1× 2.5 Gbps Port + 2× Gigabit Ports
  • ขนาดตัวเครื่อง กว้าง 105 ยาว 105 สูง 169 มม.
  • รองรับการใช้สายเชื่อมต่อด้วยสายเป็น Backhaul

You may have missed

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า