แบตเตอรี่สำรอง พาวเวอร์แบงค์พกขึ้นเครื่องบินได้ไหม ได้กี่อัน ไม่เกินกี่มิลลิแอมป์ (mAh) มีเงื่อนไขข้อกำหนดอย่างไรบ้าง?

จากกรณีพาวเวอร์แบงค์ระเบิดทำให้เกิดไฟลุกบนเครื่องบิน ก็ทำเอาหลายคนเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าทำไมถึงระเบิด และจริง ๆ แล้วในการขึ้นเครื่องบินเค้ามีข้อกำหนดยังไงบ้าง สามารถพกได้กี่ก้อน โหลดลงใต้เครื่องหรือพกไว้กับตัวได้ วันนี้เราเลยได้โอกาสนำข้อมูลมาสรุปให้ทุกคนได้ทราบกัน

นำพาวเวอร์แบงค์ แบตสำรองขึ้นเครื่องบิน ต้องทำยังไง ?

สำหรับการพาวเวอร์แบงค์ขึ้นเครื่องบินนั้น ตามกฎท่าอากาศยานและสายการบิน อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้โดยจะต้องพกหรือเก็บอยู่กับตัวในกระเป๋าสัมภาระที่ถือขึ้นเครื่องเท่านั้น ไม่อนุญาตให้โหลดเข้าใต้เครื่อง เนื่องจากแบตสำรองเป็นวัตถุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง หากเกิดปัญหาขึ้นมาจะได้แก้ไขได้ทัน

พกพาวเวอร์แบงค์ขึ้นเครื่องบินได้กี่ก้อน? ไม่เกินกี่มิลลิแอมป์

สำหรับจำนวนของแบตสำรอง ที่สามารถนำขึ้นเครื่องได้นั้น จะแบ่งแยกไปตามความจุ ดังนี้

  • แบตสำรองขนาด 20,000 mAh หรือ 100Wh หรือน้อยกว่า สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ไม่จำกัดจำนวน
  • แบตสำรองขนาด 20,000 – 32,000 mAh หรือ 100Wh – 160Wh หรือน้อยกว่า สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน
  • แบตสำรองขนาดมากกว่า 32,000 mAh หรือ 160Wh ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ในทุกกรณี

แต่ทั้งนี้ ก็มีบางสายการบินที่กำหนดจำนวนของขนาดแบตเตอรี่เอาไว้แตกต่างจากข้อมูลข้างต้น อย่างเช่น สายการบินไทยได้ระบุให้แบตสำรองขนาดไม่เกิน 20,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 20 ก้อนเท่านั้น เป็นต้น เบื้องต้นหากกำลังจะเดินทางด้วยสายการบินไหน แนะนำให้เช็กข้อมูลกับทางสายการบินนั้นก่อนจะดีที่สุดค่ะ

วิธีเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์อย่างไรให้ปลอดภัย

  • อีกหนึ่งคำแนะนำสำหรับการพกแบตสำรอง (ไม่ใช่แค่ขึ้นเครื่องบินนะ แต่ใช้ในชีวิตประจำวันก็ด้วย) ควรจะซื้อแบตสำรองที่มียี่ห้อที่น่าเชื่อถือได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นของราคาแพง แต่ขอให้มีการการันตีมาตรฐานความปลอดภัย อย่างเช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
  • ควรซื้อพาวเวอร์แบงก์ที่มีการระบุตัวเลขของความจุแบตเตอรี่ และมาตรฐานการรองรับต่าง ๆ อย่างชัดเจน
  • หลีกเลี่ยงพาวเวอร์แบงก์ที่มีความจุสูง ๆ แต่ราคาถูก เพราะของเหล่านี้มักจะทำให้เกิดอันตรายได้

ถ้าพาวเวอร์แบงค์ที่ใช้ไม่มีความจุบอก สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไหม?

สำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมที่ไม่ได้ระบุพลังงานไฟฟ้า เป็น Wh หรือขนาดความจุของลิเธียม (Lithium Content : LC) หรือระบุขนาด mAh ไม่ชัดเจน ลบเลือน จนดูไม่ออกว่ามีความจุเท่าไร ไม่สามารถพกขึ้นเครื่องบินได้ ไม่ว่าจะนำใส่ในสัมภาระติดตัวหรือสัมภาระลงทะเบียนก็ตาม

หากใช้งานแบตสำรองขณะอยู่บนเครื่อง แล้วเกิดเหตุฉุกเฉิน ต้องทำอย่างไร

หากใช้งานชาร์จแบตเตอรี่อยู่แล้วเกิดความร้อนผิดปกติขึ้นมา ให้รีบตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าว แล้วรีบเรียกพนักงานบนเครื่องบินทันที

ทำไมแบตสำรองถึงระเบิด?

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์แบตสำรองไฟลุกบนเครื่องบิน ที่กำลังเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ก็ทำเอาหลายคนสงสัยว่าแบตสำรองมันระเบิดได้ยังไง อะไรเป็นตัวกระตุ้น แล้วแบตที่พกอยู่ในกระเป๋าทุกวันนี้ มีสิทธิ์จะเป็นอย่างในข่าวมั้ย ทางด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำตอบไว้ ดังนี้

การระเบิดลุกไหม้ของพาวเวอร์แบงค์นั้น จะไม่เหมือนกับพวกถ่านไฟฉายที่เคยใช้ ๆ กันทั่วไป เพราะว่ามันมักจะเป็นแบตเตอรี่พวกลิเธียมไอออน (lithuim ion) ที่มีน้ำหนักเบา และมีความหนาแน่นของความจุไฟฟ้าสูง ซึ่งถ้าลิเธียมสัมผัสกับอากาศที่มีก๊าซออกซิเจน ก็จะทําให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เกิดความร้อนสูง และเกิดการระเบิดรุนแรงได้

สำหรับแบตเตอรี่ที่ผลิตตามมาตรฐาน จะมีเปลือกแบตเตอรี่และวัสดุห่อหุ้มเซลล์ไฟฟ้า ไม่ให้โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนสัมผัสกับอะตอมของลิเธียม ส่วนแบตเตอรี่ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนวัสดุที่ใช้ห่อหุ้ม, วงจรไฟฟ้าสำหรับการจ่ายไฟและการชาร์จไฟ, การเสื่อมประสิทธิภาพตามกาลเวลา, การตกกระแทกจนเกิดความเสียหาย หรือจัดเก็บในที่ๆ ไม่เหมาะสม ก็มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ส่วนกรณีการระเบิดของแบตเตอรี่สำรองโดยที่วางไว้เฉย ๆ ไม่ได้เสียบชาร์จนั้น มีโอกาสที่จะระเบิดเพียง 1 ในล้านเท่านั้น ยังไม่ต้องกังวลไป ถ้าซื้อแบตเตอรี่ที่ได้รับการรับรองที่ถูกต้อง เก็บรักษาตามคำแนะนำ และใช้อย่างถูกวิธี

โดยพาวเวอร์แบงค์ที่จำหน่ายในไทยอย่างถูกกฎหมาย จะต้องผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 และต้องได้รับอนุญาตในการผลิต-นำเข้า โดยจะต้องมีตรา มอก. แปะอยู่กับพาวเวอร์แบงค์ทุกลูก

ที่มา : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ , AirAsia, IATA, AOT

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า