หูฟังไร้สายมีกี่แบบ ข้อดี ข้อเสียของแต่ละแบบเป็นอย่างไร

ในยุคที่หูฟังไร้สายได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจนได้รับการพัฒนามาอยู่ในรูปแบบ Form Factor ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ก็ในแต่รูปแบบก็มีข้อดี ข้อเสียที่ไม่เหมือนกันสักทีเดียว ในวันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อมูลหูฟังไร้สาย 6 ชนิดที่มักเห็นผ่านหน้าร้านค้าออนไลน์กันบ่อย ๆ รวมทั้งมีรายละเอียดข้อดี และข้อเสียของหูฟังชนิดนั้น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเลือกซื้อหูฟังไร้สายนั่นเอง

หูฟังไร้สาย Neckband

หูฟังไร้สายแบบ Neckband เป็นแบบที่ได้รับความนิยมในยุคแรก ๆ จนตอนนี้ก็เริ่มค่อย ๆ หายไปกันบ้างแล้ว ลักษณะเด่นของหูฟังไร้สายแบบ Neckband นั้นจะมีสายคล้องคอ (แล้วทำไมถึงเรียกว่าหูฟังไร้สายกันนะ?) หรือก้านพลาสติกแข็งพาดคอ ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างหูฟังด้านซ้าย และด้านขวาให้อยู่ติดกัน และมักจะมาพร้อมกับแผงปุ่มคอนโทรลเพิ่มลดเสียงอยู่ที่สายฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าแผงนี้แหละจะเป็นที่สำหรับใส่แบตเตอรี่ และแผงวงจรเชื่อมต่อ Bluetooth นั่นเอง

ข้อดีของหูฟังไร้สาย Neckband

  • มั่นคง ไม่ต้องกลัวหล่นหาย เวลาเราใส่ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวเยอะ ๆ ก็สามารถปรับสายให้แน่นขึ้นให้กระชับศีรษะได้ ถ้าหากหูฟังเกิดหลุดออกจากหูระหว่างทำกิจกรรม หูฟังก็จะห้อยอยู่อย่างนั้นไม่หล่นลงไปที่พื้น ลดโอกาสสูญหาย และเสียหายจากการกระแทกพื้นด้วย
  • ใช้งานต่อเนื่องได้ยาวนานกว่า เพราะแบตเตอรี่หูฟังไร้สายแบบ Neckband มีอยู่แค่ที่แผงคอนโทรลที่เดียว จนสามารถใช้งานได้ยาวนานหลายสิบชั่วโมงจนกว่าแบตจะหมด ต่างจากหูฟัง True Wireless ที่แยกแบตเล็ก ๆ ไว้ที่หูฟัง 2 ข้าง ซึ่งทำให้ฟังได้ไม่กี่ชั่วโมงต้องเอาเข้ากล่องชาร์จแล้ว
  • ราคาถูก เพราะขั้นตอนการผลิตมีความซับซ้อนน้อยกว่าหูฟังไร้สายชนิดอื่น ๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกกว่า และขายได้ในราคาดีกว่าหูฟังอื่น ๆ

ข้อเสียหูฟังไร้สาย Neckband

  • พกพายาก เพราะเนื่องจากว่าหูฟังยังมีสายอยู่ทำให้เราต้องหากล่องมาใส่ตัวหูฟังเพิ่ม จะโยนลงไปในกระเป๋าเลย สายก็อาจจะไปพันกับสิ่งของจนสร้างความเสียหายต่อหูฟังได้อีก ถ้าหากเป็นรุ่นแบบก้านพลาสติกแข็งพาดคอแล้ว ก็ยิ่งสร้างความลำบากในการจัดเก็บเข้าไปอีก เพราะเราไม่สามารถพับก้านของมันได้ ทำให้เปลืองหน้าที่กระเป๋ามากขึ้น และเสี่ยงต่อการแตกหักด้วย
  • มีเสียงรบกวนจากสายหูฟัง เวลาที่เรานำหูฟังไปใส่วิ่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือเสียงรบกวนจากสายหูฟังที่กระทบกับผิวหนังของเราจนเกิดเป็นเสียงที่สร้างความหงุดหงิดเล็ก ๆ ได้
  • มีสายเป็นจุดอ่อน สายคือจุดอ่อนของหูฟัง Neckband เพราะเมื่อไหร่ที่เผลอพลาด กระชากแรง ๆ แล้วสายเกิดขาด หรือหักใน อาจต้องทิ้งสถานเดียว จะเปลี่ยนเฉพาะข้างที่เสียก็ไม่ได้เพราะหูฟังมีสายเป็นตัวเชื่อมกัน

หูฟังไร้สาย True Wireless

หูฟังไร้สายแบบ True Wireless หรือ TWS เป็นหูฟังที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากหูฟังไร้สายแบบ Neckband นี่แหละ ซึ่งรูปทรงก็เป็นไปตามชื่อเรียกของมันเลย เพราะมันไม่มีสายให้กวนใจเลยจริง ๆ หูฟัง TWS จะแยกชิ้นหูฟังเป็นสองข้าง มาพร้อมกล่องเก็บหูฟังที่มีแบตเตอรี่ สามารถชาร์จได้ทุกครั้งที่เก็บหูฟังทั้งสองข้างเข้าไปในกล่อง

ข้อดีของหูฟังไร้สาย True Wireless

  • กะทัดรัด พกพาง่าย หูฟังไร้สาย TWS มักจากมาพร้อมเคสชาร์จขนาดเล็กที่สามารถโยนลงกระเป๋าได้ โดยไม่เปลืองเนื้อที่
  • ออกแบบมาให้ใส่สบาย หูฟังไร้สาย TWS ส่วนใหญ่จะถูกออกแบบมาให้ตรงกับรูปหูตามหลักการยศาสตร์มากที่สุด ทำให้ใส่แล้วรู้สึกสบาย ใส่ได้ตลอดวัน
  • ไม่มีสายเกะกะให้รำคาญใจ จะฟังเพลงไปออกกำลังกายไปได้ไม่อึดอัด มีอิสระกว่าเพราะไม่มีสายให้ต้องรู้สึกกวนใจ แถมยังหมดกังวลเรื่องเสียงรบกวนจากสายที่กระทบกับผิวหนังเวลาวิ่ง และยังกลบจุดอ่อนเรื่องสายหักในด้วย

ข้อเสียของหูฟังไร้สาย True Wireless

  • ระวังร่วงหาย กระแทกพื้นพัง! ถึงแม้ว่าหูฟัง True Wireless ส่วนใหญ่จะออกแบบถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ก็จริง แต่ก็ยังมีอีกหลายรุ่นที่มีเสียงบ่นจากผู้ใช้เรื่องปัญหาหล่นโดยไม่รู้ตัว หลุดออกจากหูง่าย ทำให้ต้องสูญเสียหูฟังอันเป็นที่รักไป หากใครที่คิดว่าจะซื้อไปใส่ฟังตอนออกกำลังกายอาจต้องลองหารุ่นที่เหมาะกับรูปหูตัวเอง จะได้ไม่หล่นหาย หรือตกกระแทกพื้นพังในตอนที่เราทำกิจกรรมโดยไม่รู้ตัว
  • การเชื่อมต่อแอบมึน หูฟังไร้สาย TWS นั้น มักจะมีปัญหาเชื่อมต่อหูฟังติดข้างเดียว ทำให้มีปัญหาวุ่นวายต้องเอาเข้าเอาออกกล่องเพื่อเชื่อมต่อใหม่ให้รำคาญใจกันอยู่บ่อย ๆ อีกทั้งเมื่ออยู่ในที่คนเยอะ ๆ อาจมีสัญญาณรบกวนทำให้การเชื่อมต่อขัดข้องได้
  • ฟังต่อเนื่องได้ไม่ค่อยนาน เพราะหูฟังไร้สาย TWS มีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้มีเนื้อที่ใส่แบตเตอรี่ลงไปในหูฟังทั้งสองข้างน้อย ทำให้ฟังเพลงต่อเนื่องได้เต็มที่ไม่เกิน 4 – 6 ชั่วโมง หรือรุ่นที่ฟังได้ติดต่อกัน 10 ชั่วโมงก็มักจะมีขนาดหูฟังที่ใหญ่ ซึ่งคนหูเล็กอาจจะใส่ได้ไม่ถนัด
  • ราคาแพง ถ้าอยากจะได้หูฟังไร้สาย TWS ที่เสียงดี ๆ ไว้ใจได้สักอันอาจจะต้องมีงบเริ่มต้นประมาณ 1500 บาท แต่ในขณะที่แบบหูฟัง Neckband สามารถหาซื้อยี่ห้อดัง ๆ เริ่มต้นแค่ประมาณ 700 บาทเท่านั้น หากใครมีงบที่ค่อนข้างจำกัด แต่อยากได้หูฟังไร้สายที่มีคุณภาพที่ดี อาจจะต้องลองมองหา Form Factor อื่นแทน

หูฟังไร้สาย Bone Conduction

หูฟังไร้สายเป็นหูฟังเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนการฟังจากหูฟังแบบเดิม ๆ ที่ต้องสอดหู กลายเป็นเพียงแค่ด้านเหน็บไว้ที่ด้านนอกของหู และจะให้วิธีการสั่นสะเทือนของกระดูกส่วนกะโหลกศีรษะส่งไปยังหูชั้นใน ทำให้เราได้ยินเสียงเพลงโดยไม่ต้องเอาสิ่งแปลกปลอมสอดเข้าไปในรูหูทั้งสิ้น

ข้อดีของหูฟังไร้สาย Bone Conduction

  • สะอาด ไม่ต้องกังวลเรื่องหูอักเสบ หรือขี้หูอุดตันจากการใส่หูฟัง เพราะหูฟังแบบ Bone Conduction จะไม่มีอะไรไปขวางทางไม่ให้ขี้หูของเราหลุดร่วงไปตามธรรมชาติ รวมถึงไม่ต้องคอยกังวลว่าเราจะยัดหูฟังที่อาจจะมีเชื้อโรคหมักหมมเข้าไปในรูหูเพื่อกระตุ้นอาการอักเสบของหูเราด้วย
  • ปลอดภัย เพราะในเมื่อไม่มีอะไรไปปิดส่วนรูหูของเราไว้ ทำให้เราได้ยินเสียงบรรยากาศรอบข้าง เวลาใส่วิ่งออกกำลังกาย หรือใส่ปั่นจักรยานตามท้องถนนก็จะได้ยินเสียงรถยนต์ที่อยู่ใกล้ ๆ หรือเสียงแตรรถ ได้ยินเสียงผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้
  • ดีสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน หูฟังไร้สายแบบ Bone Conduction สามารถช่วยผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินที่หูชั้นนอก และหูชั้นกลาง เช่นผู้สูงอายุที่มีอาการหูตึง จะสามารถฟังเพลงได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพราะคลื่นเสียงจากการสั่นสะเทือนจะถูกส่งไปที่หูชั้นในทันที
  • หลุดยาก ไม่ต้องกลัวว่าหูฟังจะหลุดออกมาง่าย ๆ ในขณะทำกิจกรรม เพราะหูฟังไร้สาย Bone Conduction มักจะมาในลักษณะหนีบระหว่างศีรษะไว้ ทำให้มั่นใจว่าหูฟังจะไม่หลุดขณะฟังให้เสียอารมณ์

ข้อเสียของหูฟังไร้สาย Bone Conduction

  • คุณภาพเสียงไม่ค่อยดี เพราะหูฟังแบบ Bone Conduction ใช้การสั่นเพื่อส่งคลื่นเสียงผ่านกระดูก ต่างจากหูฟังธรรมดาที่ส่งเสียงผ่านอากาศ ทำให้คุณภาพเสียงที่ได้มาอาจจะไม่สู้หูฟังไร้สายแบบปกติ เสียงทุ้ม และเสียงแหลมจะมีคุณภาพที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด สำหรับใครที่อยากได้หูฟังเสียงจัดเต็ม อาจจะต้องมองข้ามหูฟังไร้สายชนิดนี้ไป
  • ไม่เหมาะสำหรับคนรักความสงบ หากต้องการอยู่กับตัวเอง ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วยการสวมหูฟัง หูฟังไร้สาย  Bone Conduction อาจจะไม่เหมาะสักเท่าไหร่เพราะเนื่องจากตัวหูฟังไม่มีการปิดในส่วนของรูหูเลย ทำให้เราได้ยินเสียงบรรยากาศรอบข้างแบบเต็ม ๆ ไม่มีการตัดเสียงรบกวนใด ๆ ทั้งสิ้น
  • มีเสียงเล็ดลอดรบกวนผู้อื่น ถือเป็นปัญหาของหูฟังไร้สายแบบ Bone Conduction ที่หลาย ๆ แบรนด์ชั้นนำพยายามที่จะพัฒนาหูฟังของตัวเองเพื่อกลบข้อด้อยจุดนี้อยู่ ถ้าหากไม่อยากให้คนที่นั่งข้าง ๆ รู้ว่าฟังอะไรอยู่ ก็อาจจะต้องพยายามหารุ่นที่มีเสียงเล็ดลอดน้อย ๆ นะ
  • ราคาแพง (มาก) หากจะเลือกซื้อหูฟัง Bone Conduction ของยี่ห้อที่เป็นผู้นำในด้านนี้ล่ะก็ อาจจะต้องกำเงินอย่างต่ำ ๆ เลยประมาณ 2,000 -3,000 บาท ซึ่งในราคานี้สามารถหาหูฟังไร้สายชนิดอื่นที่คุณภาพดี ๆ ได้เลยแหละ

หูฟังไร้สาย Over-Ear

หูฟัง Over-Ear หรือหูฟังทรงครอบหูที่มักจะมาในดีไซน์ที่ใหญ่ มีฟองน้ำปิดหูทั้งสองข้างแบบมิดชิด หูฟัง Over-Ear ถือเป็นหูฟังสุดคลาสสิคตลอดกาลที่ตอนนี้ได้พัฒนามาอยู่ในรูปแบบของหูฟังไร้สายแล้ว และในช่วงนี้ก็ดูเหมือนว่าจะกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย

ข้อดีของหูฟังไร้สาย Over-Ear

  • สวมใส่สบาย ด้วยดีไซน์ที่มาในลักษณะที่ครอบทั้งใบหู อีกทั้งยังมีการบุฟองน้ำนุ่ม ๆ รองรับหูทั้งสองข้างไว้ ทำให้สวมใส่ได้สบาย ถึงแม้จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่มากก็ตาม
  • เสียงดีสุด ๆ เพราะหูฟังมาพร้อมกับขนาดที่ใหญ่มาก ๆ สามารถใส่ไดรเวอร์ขับเสียงขนาดใหญ่ได้ ทำให้ได้คุณภาพเสียงที่ยิ่งใหญ่ สมจริง และมีเวทีเสียงที่กว้างมาก จึงเหมาะสำหรับการฟังเพลงสุด ๆ
  • กันเสียงรบกวนได้ดีเยี่ยม ฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ครอบไปทั้งใบหู สามารถกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี แถมเดี๋ยวนี้ในบางรุ่นยังมีโหมดตัดเสียง Active Noise Cancellation มาช่วยเสริมให้หูฟังไร้สาย Over-Ear ตัดเสียงรบกวนได้ดีมากขึ้นอีกด้วย
  • แบตเตอรี่ทนสุด ๆ หูฟังไร้สายแบบ Over-Ear ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับความจุแบตเตอรี่ที่ใหญ่ตามขนาด ซึ่งหลาย ๆ แบรนด์ในท้องตลาดก็ได้แข่งกันเคลมว่าหูฟัง Over-Ear ตนเองสามารถฟังได้นานถึง 15 – 48 ชั่วโมงติดต่อกันต่อการชาร์จ 1 ครั้งเลยทีเดียว ใครที่ขี้เกียจหยิบหูฟังมาชาร์จบ่อย ก็อาจจะเหมาะกับหูฟังไร้สาย Form Factor นี้

ข้อเสียของหูฟังไร้สาย Over-Ear

  • ไม่สบายในความสบาย ด้วยอากาศเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อน การใส่หูฟัง Over-Ear ครอบหูไว้นาน ๆ อาจทำให้รู้สึกร้อน และมีเหงื่อสะสมบนหูฟังจนหลาย ๆ ครั้งส่งผลให้ฟองน้ำหูฟังเสื่อมก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังทำให้ฟองน้ำหูฟังกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคด้วย
  • พกพายากมาก ถึงแม้ว่าหูฟังแบบ Over-Ear จะให้เสียงที่ดีกว่าหูฟังไร้สายชนิดอื่น ๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยขนาดหูฟังที่ใหญ่โต และค่อนข้างมีน้ำหนักจนต้องใช้กระเป๋าขนาดใหญ่เก็บ จึงไม่เหมาะแก่การพกพาออกไปฟังนอกบ้านอย่างยิ่ง
  • ไม่ได้ยินเสียงภายนอก ด้วยความที่หูฟัง Over-Ear นั้นครอบหูแบบมิดชิด แถมยังมีฟองน้ำช่วยเก็บเสียงรบกวนอีก ทำให้เวลาเราใส่เดินตามท้องถนน เราอาจจะไม่ได้ยินเสียงต่าง ๆ รอบข้างซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่เราไม่คาดคิดได้

หูฟังไร้สาย On-Ear 

หูฟังไร้สายแบบ On-Ear เป็นหูฟัง Over-Ear ขนาดย่อส่วนที่เปลี่ยนจากการครอบใบหูแบบเต็ม ๆ มาวางไว้บนใบหูแทน ซึ่งทำให้ดีไซน์โดยรวมมีขนาดเล็กกว่าหูฟังแบบ Over-Ear อย่างเห็นได้ชัด แต่ยังคงจุดเด่นของหูฟังแบบ Over-Ear ไว้อย่างครบถ้วน

ข้อดีของหูฟังไร้สาย On-Ear

  • พกพาง่ายกว่าหูฟัง Over-Ear ด้วยความที่หูฟังไร้สายแบบ On-Ear มีขนาดที่เล็กลง แถมบางแบรนด์ยังดีไซน์ให้หูฟังตัวเองมีกลไกในการพับเก็บทำให้ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บน้อยลง อีกทั้งยังมีน้ำหนักที่เบากว่าเดิม ทำให้ง่ายต่อการพกพาไปฟังนอกบ้านมากขึ้นด้วย
  • เสียงดีไม่แพ้รุ่นใหญ่ เพราะหูฟังยังคงมาพร้อมกับขนาดที่เพียงพอต่อการยัดไดรเวอร์ขับเสียงขนาดใหญ่ ทำให้ยังได้คุณภาพเสียงที่ดี สมจริง และมีเวทีเสียงที่กว้างไม่แพ้หูฟังไร้สายแบบ Over-Ear เลย
  • แบตเตอรี่อึดไม่ต่างจากหูฟัง Over-Ear เลย สามารถฟังได้นานถึง 10 – 30 ชั่วโมงติดต่อกันต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

ข้อเสียของหูฟังไร้สาย On-Ear

  • สวมใส่ไม่ค่อยสบายเท่าไหร่ หูฟังไร้สายแบบ On-Ear มักจะดีไซน์ให้สวมใส่ด้วยการทับไปกับใบหู ต่างจากหูฟังแบบ Over-Ear ที่ครอบหูไปเลย ซึ่งหากใส่ไปสักพักอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหูจากการโดนตัวหูฟังบีบเป็นเวลานาน ๆ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการระบายอากาศเหมือนกับหูฟัง Over-Ear เหมือนกัน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกร้อน และมีเหงื่อสะสมบนหูฟังด้วยเช่นกัน
  • เก็บเสียงรบกวนได้ไม่ดี เพราะรูปหูของเราไม่ได้แบนราบไปกับหูฟัง ทำให้มีช่องว่างระหว่างใบหูกับฟองน้ำของหูฟังจนเสียงจากภายนอกสามารถเล็ดลอดเข้ามาในระหว่างที่เราสวมใส่ได้ ถึงแม้จะดูปลอดภัยเวลาพกออกไปฟังนอกบ้าน แต่ก็แลกมาด้วยความรู้สึกเสียอรรถรสในการฟังจากเสียงรบกวนภายนอกนั่นเอง

หูฟังไร้สาย Gaming Headset

หูฟังไร้สายชนิดนี้อาจเป็นหูฟังที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มนิดหน่อย เพราะจุดประสงค์หลัก ๆ ของหูฟังชนิดนี้คือการนำมาเล่นเกมโดยเฉพาะ รูปแบบของหูฟังจะมาในลักษณะคล้าย ๆ Over-Ear กับ On-Ear เพียงแต่จะมีก้านไมโครโฟนยื่นออกมาเพื่อใช้สนทนาขณะเล่นเกม และมักใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi 2.4 Ghz แทนที่จะใช้ Bluetooth เหมือนหูฟังไร้สายชนิดอื่น ๆ

ข้อดีของหูฟังไร้สาย Gaming Headset

  • รับสัญญาณได้ไกล และดีเลย์น้อยมาก เพราะหูฟังไร้สายแบบ Gaming Headset นั้นเลือกใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ไม่เหมือนหูฟังไร้สายอื่น ๆ ทำให้ได้ประโยชน์จากการใช้งานคลื่น Wi-Fi 2.4GHz อย่างเต็มที่  หมดปัญหาภาพกับเสียงไม่ตรงกันเวลาเล่นเกม หรือสัญญาณขาดหายเมื่ออยู่ไกลจากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อไว้ด้วย
  • มีไมโครโฟนแยก เวลาเล่นเกมเราอาจจะต้องใช้ไมโครโฟนเพื่อสนทนากับคนอื่น ๆ ซึ่งหากใช้ไมโครโฟนที่ติดตั้งลงในตัวของหูฟังเลยอาจจะทำให้คุณภาพของเสียงพูดไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ หูฟังไร้สายแบบ Gaming Headset จึงมักจะมีก้านไมค์แยกออกมาที่สามารถปรับให้เข้ากับตำแหน่งปากของเราได้ จึงทำให้เสียงพูดมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  • แบตเตอรี่ใช้ได้นาน หูฟังไร้สาย Gaming Headset ส่วนใหญ่สามารถใช้งานต่อเนื่องได้เกิน 20 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ทำให้เล่นเกมติดต่อกันได้นานไม่ขาดช่วง

ข้อเสียของหูฟังไร้สาย Gaming Headset

  • ไม่เหมาะสำหรับใช้ฟังเพลง หูฟังไร้สายแบบ Gaming Headset มักจะถูกปรับแต่งเสียง Bass และเสียงย่านสูงมาแบบล้น ๆ เพื่อความกระหึ่มเหมาะสำหรับการเล่นเกมเท่านั้น เมื่อนำมาฟังเพลงอาจจะทำให้รู้สึกว่าเสียงมันค่อนข้างล้นไปสักหน่อย หากอยากจะซื้อหูฟัง Gaming Headset มาเพื่อฟังเพลงด้วย อาจจะต้องหาหูฟังธรรมดามาใช้แยกอีกสักอันหนึ่งดีกว่า
  • พกพาไม่ได้ หูฟังไร้สายแบบ Gaming Headset มักมีขนาดที่ใหญ่เทอะทะมาก ไม่เหมาะกับการนำไปฟังนอกบ้านอย่างยิ่ง อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อที่แตกต่างจากอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งอาจจะไม่รองรับการเชื่อมต่อกับหูฟังชนิดนี้ด้วย
  • USB Wireless Adapter หาย = ใช้งานไม่ได้ ด้วยความที่หูฟังไร้สายแบบ Gaming Headset มักจะใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi 2.4 GHz จึงต้องพึ่งพาตัวรับสัญญาณขนาดเล็ก USB Wireless Adapter ในการเชื่อมต่อหูฟัง ซึ่งถ้าหากหายขึ้นมาอาจไม่สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายได้เลย มีบางรุ่นก็มีทางเลือกที่สามารถเชื่อมต่อผ่าน USB Type-C ได้ แต่ยังไงก็สูญเสียคุณสมบัติการเชื่อมต่อแบบไร้สายอยู่ดี

 

นี่คือทั้งหมดของหูฟังไร้สาย 6 Form Factor ที่พบเจอได้ในท้องตลาดบ่อย ๆ ซึ่งในแต่ละรุ่นก็มีข้อดี และข้อเสียของมันต่างกันออกไป หากใครที่กำลังมองหาหูฟังไร้สายอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อหูฟังในรูปแบบไหนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์การฟังของตัวเอง สามารถนำข้อมูลในบทความนี้เพื่อไปประกอบการพิจารณาได้เลย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า