มือถือซูมไกลมีกี่แบบ ระบบ Optical Zoom และ Digital Zoom คืออะไร แบบไหนดีกว่ากัน?

ใครที่ยังงง ๆ อยู่ว่าระบบซูมบนมือถือในตอนนี้มีอะไรบ้าง ทั้ง Optical Zoom, Digital Zoom, Hybrid Zoom หรือ In-Sensor Zoom ชื่อเรียก ศัพท์เฉพาะเยอะเกินไหนหมดจนทำความเข้าใจยาก ในบทความนี้เราจะมาอธิบายให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ว่าตอนนี้ ระบบมือถือซูมไกลมีกี่แบบ และแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

มือถือซูมไกลมีกี่แบบ มีระบบอะไรบ้าง?

ในปี 2024 นี้ ระบบซูมบนสมาร์ทโฟนในแต่ละแบรนด์หลัก ๆ แล้วจะมีการใช้กันอยู่ 4 แบบด้วยกันซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีแตกต่างกันไป มีทั้งการใช้หน่วยประมวลผล หรือ AI ต่าง ๆ มาช่วยให้คุณภาพดี ขึ้น รวมถึงมีการใช้ชิ้นเลนส์ที่ขยับได้จริงเหมือนกล้องโปรเลยทีเดียว โดยระบบการซูมทั้ง 4 แบบที่ว่า มีดังนี้

ระบบ Optical Zoom คืออะไร

ระบบ Optical Zoom เป็นการซูมที่ให้ภาพที่คมชัดที่สุดในบรรดาระบบซูมบนมือถือ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วการซูมแบบ Optical จริง ๆ นั้น จะมีการใช้กลไกการทำงานด้วยการเคลื่อนที่กระจกเลนส์กล้องให้เข้าไปใกล้วัตถุให้ใกล้ที่สุด ทำให้เราได้ถ่ายภาพได้ใกล้ขึ้น ได้ความคมชัดตามจริง โดยที่ในขณะถ่ายไม่ต้องอยู่ใกล้วัตถุเลย

ข้อดีของ Optical Zoom

ข้อดีของระบบ Optical Zoom ก็คือ เมื่อซูมตามระยะที่เลนส์รองรับแล้ว คุณภาพภาพถ่ายที่ได้มา ยังคงคมชัด เก็บรายละเอียดได้ครบตามความละเอียดของเซนเซอร์เป๊ะ ๆ ไม่มีลดทอน เหมือนเราใช้แว่นขยายมองไปที่วัตถุโดยตรง ๆ นั่นเอง

ข้อเสียของ Optical Zoom

และอย่างที่กล่าวไปด้านบนว่าระบบ Optical Zoom แบบจริง ๆ นั้น ถือเป็นเพียงแค่ทฤษฎี และแทบไม่ได้นำมาใช้ในมือถือเลย เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งการจัดวางชิ้นส่วนกลไกที่ให้พื้นที่เยอะ ทำให้ตัวเครื่องหนามาก ๆ และต้นทุนสูงกว่าการซูมด้วยระบบอื่น ๆ

แต่ถึงแม้จะมีข้อเสียหลายอย่างที่ไม่เหมาะกับการใช้บนสมาร์ทโฟน แต่ในอดีตถ้ายังจำกันได้ Samsung ก็เคยมีซีรีส์ที่ใช้กล้องแบบ Optical Zoom จริง ๆ ทั้ง Galaxy S4 Zoom และ Galaxy K Zoom ที่ซูม Optical แบบขยับชิ้นเลนส์จริง ๆ ได้ถึง 10 เท่า แต่แน่นอนว่าบอดี้ของรุ่นนี้ก็แทบจะเป็นกล้องดิจิทัล Point & Shoot ที่โทรออกได้เลย

ในยุคปัจจุบัน สมาร์ทโฟนที่ยังคงรูปแบบดีไซน์บางเฉียบ แต่สามารถใส่ระบบ True Optical Zoom ขยับชิ้นกระจกเลนส์แบบจริง ๆ และทำมาวางจำหน่ายจริง ๆ มีเพียงแค่ Sony Xperia 1 IV และ Xperia 1 V เท่านั้น โดยสามารถทำได้ในระยะ 85 – 125 mm (3.5x – 5.2x) ทั้งสองรุ่น

แล้ว Optical Zoom บนมือถือส่วนใหญ่ ใช้ระบบอะไร?

ปัจจุบันมือถือแบรนด์ต่าง ๆ ที่ใช้คำว่า Optical Zoom บนกล้องนั้น ไม่ได้ใช้กลไกการขยับชิ้นกระจกเลนส์จริง ๆ แต่จะเป็นการสลับใช้เซนเซอร์กล้อง และเลนส์ Fixed Focus ที่มีระยะใกล้ไกลที่แตกต่างกัน จึงสังเกตได้ว่ามือถือที่โฆษณาว่ามีระยะซูมได้ไกล ๆ จะมีเลนส์กล้อง Telephoto เพิ่มขึ้นมา 1 – 2 เลนส์นั่นเอง

สำหรับคุณภาพการถ่ายภาพ และวิดิโอซูมนั้น จะสังเกตได้ว่าตัวกล้องจะถ่ายได้คมชัดรายละเอียดจัดเต็ม เฉพาะในระยะที่สเปคกล้องกำหนดไว้เท่านั้น เช่นหากมือถือของเรามีเลนส์ซูม 5x และ 10x ก็จะถ่ายสวยแค่ในระยะนี้ เพราะเป็นการดึงภาพจากตัวเซนเซอร์โดยตรง

แต่การถ่ายในระยะระหว่างเลนส์ เช่นจาก 1x ไป 4.9x จะเห็นได้ว่าคุณภาพจะถูกลดทอนลงไปพอสมควร เพราะภาพที่ได้จะเป็นการใช้ระบบ Hybrid Zoom หรือ In-Sensor Zoom ในการขยายภาพจากเลนส์ 1x และการที่จะได้ภาพที่คมชัด จะต้องซูมไปจนถึงระยะ 5x ตามสเปคกล้องที่ระบุไว้ ดังนั้นในระหว่างการซูมไปยังเลนส์ต่าง ๆ ตัวกล้องจึงมีการกะพริบเล็กน้อย เพราะระยะเลนส์ที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

ระบบ Digital Zoom คืออะไร

ระบบ Digital Zoom เป็นระบบการซูมที่ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อเลียนแบบการทำงานของระบบ Optical Zoom และเป็นระบบที่แพร่หลาย มีในสมาร์ทโฟนทุกรุ่น โดยหลักการทำงานเมื่อซูมแบบ Digital นั้นระบบจะครอปภาพจากในจุดที่เราซูม หลังจากนั้นก็จะใช้ซอฟต์แวร์เพื่อทำการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น และทำการปรับขนาดภาพให้เทียบเท่ากับความละเอียดของกล้อง

ข้อดีของ Digital Zoom

ระบบ Digital Zoom มีข้อดีตรงที่เราสามารถซูมในระยะที่ไม่ไกลมาก เพื่อช่วยในการจัดวางองค์ประกอบภาพในระหว่างการถ่ายได้ใกล้ขึ้นโดยที่เราไม่ต้องคอยขยับตัว หรือเคลื่อนที่เลย และด้วยความที่ระบบ Digital Zoom ไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มเลนส์ Telephoto หรือกลไกเคลื่อนที่ต่าง ๆ ทำให้ระบบที่ว่านี้มีให้ใช้ในสมาร์ทโฟนทุก ๆ เครื่อง ไม่ว่าจะรุ่นราคาประหยัดหรือรุ่นราคาแพง

ข้อเสียของ Digital Zoom

การถ่ายภาพซูมแบบ Digital มีข้อเสียตรงที่ รายละเอียดและความคมชัดจะสูญเสียไปค่อนข้างเยอะกว่าการถ่ายด้วยเลนส์แบบ Optical Zoom เพราะด้วยความที่ระบบอาศัยการซูมจากการครอปภาพ ไม่ได้ถ่ายด้วยเลนส์ระยะไกล ๆ ของจริง

ซึ่งถ้ายกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่าเราถ่ายภาพที่ความละเอียด 12MP และซูมแบบ Digital ที่ 2 เท่า ตัวซอฟต์แวร์จะทำการจับภาพ และครอปเฉพาะในบริเวณ 6MP ที่เราซูม หลังจากนั้นระบบขยายภาพ 6MP นั้นให้ใหญ่ขึ้นกลายเป็น 12MP จึงทำให้รายละเอียดในภาพมีความเบลอและแตกอย่างเห็นได้ชัด

ระบบ Hybrid Zoom คืออะไร

ระบบ Hybrid Zoom เป็นระบบที่ผสมสานระหว่างการซูมแบบ Optical และ Digital และใช้ Software เข้ามาช่วยให้คุณภาพการซูมในระยะไกล ๆ ให้ดีขึ้นกว่าการซูม Digital แบบธรรมดาทั่วไป

ข้อดีของ Hybrid Zoom

ระบบ Hybrid Zoom นั้น ทำงานด้วยการใช้เทคนิคถ่ายภาพจากเซนเซอร์กล้องหลักและกล้อง Telephoto พร้อมกัน หลังจากนั้นก็จะใช้ซอฟต์แวร์มาช่วยรวมภาพ และดึงดีเทลต่าง ๆ เพื่อให้ได้ภาพซูมที่มีคุณภาพคมชัดขึ้นมาอีกระดับ ใกล้เคียงกับการซูมแบบ Optical แต่ไม่ต้องเพิ่มเลนส์ Telephoto เพื่อให้ถ่ายได้ไกลขึ้นไปอีกระยะ

ข้อเสียของ Hybrid Zoom

ระบบ Hybrid Zoom นั้นส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับระยะการซูมที่ค่อนข้างจำกัด ประมาณ 5x – 10x ขึ้นอยู่กับระยะกล้อง Telephoto ของเราว่าไปได้ไกลสุดแค่ไหน เพราะตัวซอฟต์แวร์ต้องเอาค่าจากเลนส์ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อทำให้ภาพคมชัดขึ้น และถ้าพ้นระยะ Hybrid Zoom ไปแล้วตัวมือถือจะสลับไปใช้การซูม Digital Zoom เหมือนเดิม

ระบบ In Sensor Zoom คืออะไร

In Sensor Zoom ถือเป็นระบบการซูมตัวใหม่ที่เพิ่งได้รับความนิยมในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ว่าสมาร์ทโฟนจะรุ่นถูกรุ่นแพงขนาดไหนก็มีฟีเจอร์นี้หมด ถ้ามีกล้องความละเอียดตั้งแต่ 50 ล้านพิกเซลขึ้นไป เพราะตัวระบบใหม่นี้จะใช้ประโยชน์จากจำนวนพิกเซลสูง ๆ ที่ว่านี้แหละ

ข้อดีของ In Sensor Zoom

เมื่อเราทำการซูมด้วยระบบ In Sensor Zoom ตัวกล้องจะปรับเปลี่ยนจากโหมดรวมพิกเซลที่ 12MP ให้กลายเป็นการถ่ายจากความละเอียดที่แท้จริงของตัวกล้อง หลังจากนั้นระบบจะทำการครอปจากภาพเต็มความละเอียด ให้เหลือเฉพาะส่วนที่เราต้องการจะซูม ทำให้ได้ภาพที่คมใช้ใกล้เคียงกับระบบ Optical Zoom มากที่สุด และแทบไม่สูญเสียความคมชัดจากการซูมเลย

ข้อเสียของ In Sensor Zoom

โดยปกติแล้ว กล้องความละเอียดสูง ๆ นั้น มักจะมากับขนาดเม็ดพิกเซลที่เล็กมาก ๆ เพื่อนำมาใช้กับระบบรวมพิกเซลให้กลายเป็นพิกเซลขนาดใหญ่ (Pixel Binning) เพื่อให้เก็บแสง และ Dynamic Range ได้ดียิ่งขึ้นเมื่อถ่ายในโหมดความละเอียดมาตรฐาน 12MP

ความต่างระหว่างการใช้ In Sensor Zoom กับการใช้กล้อง Telephoto ถ่ายจริง ๆ ในระยะเดียวกัน

แต่เมื่อระบบ In Sensor Zoom ถ่ายจากภาพความละเอียดแบบเต็ม ๆ และนำมาครอป ก็จะทำให้เราได้ภาพจากเม็ดพิกเซลเล็ก ๆ ที่ยังไม่ผ่านการ Binning ทำให้คุณภาพของภาพซูมที่ได้ เก็บแสง หรือถ่ายในที่แสงน้อยได้ไม่ค่อยดีนัก

นอกจากนี้ระบบ In Sensor Zoom ยังมีจุดบอดในเรื่องของมิติของภาพที่จะดูแบนไม่เป็นธรรมชาติ และไม่ได้มุมมองใหม่ ๆ ซึ่งต่างจากการใช้เลนส์แบบ Optical จริง ๆ ที่ได้มิติที่สวยงามกว่านั่นเอง

ที่มา: Android Authority

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า