จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไร?​ แล้วประเทศอื่นทำตามได้ไหม?

เมื่อโลกเริ่มสนใจรถยนต์ไฟฟ้า (EV-Electric Vehicle) ประเทศจีนก็กลายเป็นผู้นำในเรื่องนี้ซะแล้ว และดูเหมือนว่าอัตราการเติบโตก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงด้วย

ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตจาก 1.3 ล้านคันมาเป็น 6.8 ล้านคันในช่วงเวลาเพียงสองปีที่ผ่านมา สถิตินี้ทำให้จีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก 8 ปีติดต่อกันแล้ว (เอาง่าย ๆ สหรัฐอเมริกาขายไปแค่ 8 แสนคันในปี 2022)

การเป็นเจ้าตลาดทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศจีนเติบโตได้อย่างมั่นคงในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่มันทำให้จีนนั้นกลายเป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายด้านสภาพแวดล้อมของโลกด้วย

แล้วจีนมาถึงตรงนี้ได้ยังไง?

เว็บไซต์ MIT Technology Review บอกว่ามันมาจากบทบาทของรัฐบาลที่ผลักดันทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานเพื่อเพิ่มความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาด ตั้งแต่เงินสนับสนุน การลดหย่อนภาษี สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และสิ่งจูงใจด้านนโยบายอื่นๆ ทำให้แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากถือกำเนิดขึ้นและคอยเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานผู้บริโภคอยู่ตลอด ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะเลือกซื้อรถยนต์คันแรกด้วย

แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้มันมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าแค่บทบาทของรัฐบาลเท่านั้น ยังมีแรงกระเพื่อมจากเทสลา นักวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ และผู้บริโภคชาติอื่น ๆ ในเอเชียอีกด้วย

ประเทศจีนเริ่มเข้าตลาด EV ได้ยังไง?

ช่วงปี 2000 ก่อนที่จีนจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ตอนนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์แบบสันดาบของประเทศจีนถือว่าเติบโตพอสมควรแล้ว แต่มันก็ไม่ได้มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งหรือโดดเด่นอะไร สู้กับประเทศอื่น ๆ อย่างเยอรมัน อเมริกา หรือญี่ปุ่นไม่ได้ ตลาดไฮบริดก็เหมือนกัน

ตอนนั้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าถือว่ายังเล็กและใหม่มาก ๆ แต่รัฐบาลจีนเห็นว่ามันเป็นน่านน้ำใหม่ที่ยังไม่มีเจ้าตลาดอย่างแท้จริง แบรนด์อย่าง GM หรือ Toyota ก็ยังแค่แตะ ๆ ผิว ยังไม่มีใครที่กล้าลงทุนใหญ่เพราะตลาดยังไม่มีลูกค้าเยอะขนาดนั้น

รัฐบาลจีนเห็นโอกาสนี้แหละครับ

อีกอย่างหนึ่งคือรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ใช่แค่เปิดโอกาสสู่การเป็นเจ้าตลาดเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหามลภาวะในอากาศที่จีนกำลังเผชิญอยู่ ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่น และยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ด้วย

มันเป็นสถานการณ์ที่มองแล้วดูมีโอกาสได้มากกว่าเสีย

สุดท้ายโครงการพัฒนาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศ 5 ปีของจีนตั้งแต่ปี 2001 นั่นคือจุดเริ่มต้นของการลงทุนของรัฐบาล

มาในปี 2007 ประเทศจีนได้รับแรงหนุนครั้งใหญ่อีกครั้งหลังจาก ว่าน กัง (Wan Gang) วิศวกรยานยนต์ที่ทำงานให้กับออดี้ในเยอรมนีมานานนับสิบปี ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน กังเป็นคนที่เชื่อในรถยนต์ไฟฟ้าและเคยลองขับรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลารุ่นแรก (Roadstar) ในปี 2008 จุดนั้นเองที่ทำให้จีนทุ่มสุดตัวไปกับรถยนต์ไฟฟ้า และอยู่ในแผนพัฒนาประเทศมาโดยตลอด

รัฐบาลทำอะไรบ้าง?

รัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านนโยบายและการอุดหนุนที่หลากหลาย ตั้งแต่ปี 2009 รัฐบาลได้เสนอเงินอุดหนุนทางการเงินและการลดหย่อนภาษีแก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับการผลิตรถโดยสารประจำทาง แท็กซี่ หรือรถยนต์สำหรับผู้บริโภครายย่อย

นอกจากนั้นยังได้จัดทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้มีรายได้อยู่รอดในช่วงปีแรก ๆ โดยเฉพาะในระบบขนส่งมวลชน นโยบายพวกนี้ช่วยสร้างกระแสเงินและการเก็บข้อมูลบนท้องถนนสำหรับบริษัทเหล่านี้ด้วย

นโยบายต่าง ๆ เช่น การปันส่วนป้ายทะเบียนรถยนต์ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น (ซึ่งถ้าเป็นรถยนต์น้ำมันทั่วไปต้องรอหลายปีกว่าจะได้) ก็ได้รับการยกเว้นสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า นโยบายเหล่านี้ทำให้สามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่า 6 ล้านคันในจีนในปี 2022 ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก รัฐบาลท้องถิ่นยังได้กำหนดนโยบายเพื่อช่วยให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอีกด้วย เช่น BYD ที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล จนตอนนี้สามารถแข่งได้อย่างสูสีกับบริษัทเทสลาไปเรียบร้อย

แล้วเทสลามีส่วนอะไรที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตกันล่ะ?

เงินอุดหนุนของรัฐบาลจีนสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้จำกัดแค่เพียงบริษัทในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงบริษัทต่างชาติอย่างเช่นเทสลาอีกด้วย ซึ่งตรงนี้เองมันช่วยสร้างระบบนิเวศและทำให้พวกเขากลายเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าของจีน รัฐบาลท้องถิ่นยังคอยโน้มน้าวให้เทสลามาสร้างโรงงานผลิตในประเทศด้วยนโยบายที่ดึงดูด อย่างเช่นโรงงานขนาดใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีประสิทธิผลมากที่สุดของเทสลา และผลิตรถยนต์เป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่เทสลาส่งมอบในปี 2022 เป็นต้น ระหว่างเทสลาและรัฐบาลจีน สิ่งนี้ถือเป็นผลประโยชน์ร่วม การที่เทสลาอยู่ในจีนทำให้บริษัทในประเทศต้องคิดค้นนวัตกรรมและตามให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและราคา ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้เทสลาต้องคอยคิดหาวิธีที่จะคงความสามารถในการแข่งขันในจีนต่อไปด้วย

เทคโนโลยีแบตเตอรี่ก็มีส่วนด้วย

แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า และหลายบริษัทจีนต่างคอยพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเทียมไอรอนฟอสเฟต (LFP) ที่ปลอดภัยและราคาถูกลง เมื่อก่อนแบตเตอรี่ LFP มีความหนาแน่นของพลังงานต่ำและทำงานได้ไม่ดีในสภาพอากาศที่หนาวเย็น แต่บริษัทแบตเตอรี่ของจีนอย่าง CATL ใช้เวลากว่าทศวรรษในการวิจัยแบตเตอรี่และลดช่องว่างความหนาแน่นของพลังงานให้แคบลง ปัจจุบันแบตเตอรี่ LFP คิดเป็น 1 ใน 3 ของแบตเตอรี่ EV ทั้งหมด และประเทศจีนเองก็เป็นผู้ควบคุมวัสดุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ที่สำคัญจำนวนมาก เช่น โคบอลต์ นิกเกิลซัลเฟต ลิเทียมไฮดรอกไซด์ และแกรไฟต์ ซึ่งการควบคุมนี้ทำให้บริษัทแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงมายาวนาน ส่งผลให้แบตเตอรี่ที่ผลิตในจีนมีราคาที่ถูกและในจำนวนเยอะกว่าประเทศอื่นๆ มาก

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าสูงเนื่องจากตลาดในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยผู้ตอบแบบสำรวจชาวจีนกว่า 50% สนใจรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์คันต่อไป บริษัทจีน เช่น BYD, SAIC-GM-Wuling, Geely, Nio, Xpeng และ LiAuto มอบทางเลือกที่หลากหลายให้กับลูกค้า ความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยีของจีน บวกกับผู้ซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ ได้ลดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อแบรนด์รถยนต์จากจีนไปเรียบร้อย กลายเป็นแบรนด์ที่น่าดึงดูดใจผู้บริโภคมากขึ้น

ประเทศอื่นทำได้ไหม? แล้วจีนจะไปไหนต่อ?

ความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนทำให้ประเทศอื่น ๆ รู้สึกอิจฉาตาร้อน อยากทำให้ได้เหมือนอย่างนั้นบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสักเท่าไหร่นัก แม้ว่าจะลอกตำราของจีนมาเลยก็ตามก็อาจจะยังเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่บางประเทศมีความสามารถทางเทคโนโลยีที่เพียงพอหรือมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ระบบการเมืองของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันอย่างมาก และไม่รู้หรอกว่าจะเต็มใจลงทุนในภาคส่วนเป็นเวลานานเหมือนอย่างที่จีนทำรึเปล่า (ต้องมองว่ามันย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2001 เลยทีเดียว) ยกตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียหรือบราซิล พวกเขาก็ไม่ได้มีอุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิมแบบจีนหรือประสบการณ์ในการจัดการนโยบายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แบบจีนเช่นกัน เพราะฉะนั้นการเลียนแบบความสำเร็จของจีนอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสักหน่อย อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนแสดงให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถเป็นโอกาสสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการกระโดดข้ามประเทศที่พัฒนาแล้วได้ด้วย

ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนนั้นเริ่มขยับขยายออกไปสู่ตลาดอื่น ๆ นอกประเทศแล้ว รุกเข้าสู่ยุโรปและอเมริกาด้วย อย่างไรก็ตาม พวกเขาจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับมาตรฐานทางเทคนิค บริการซอฟต์แวร์ และการดูแลลูกค้าที่แตกต่างกันในแต่ละที่ด้วย แต่ตลาดในประเทศเกิดใหม่ในเอเชียก็ยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกเยอะมาก มีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเนื่องจากเหตุผลด้านพลังงาน การที่จีนให้ความสำคัญกับการรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงแต่มันลดการพึ่งพาการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเท่านั้น แต่ตอนนี้พวกเขาได้สร้างอุตสาหกรรมการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่ยั่งยืนอีกด้วย โดยบางประเทศก็กำลังพยายามชักชวนให้จีนมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศของตัวเองเช่นกัน การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในปี 2022 สูงถึง 679,000 คัน เพิ่มขึ้น 120% จากปีก่อน ซึ่งบ่งชี้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังคงเติบโตต่อไปอีกนานเลยทีเดียว

ที่มา:
MIT Technology Review EV Volumes
MDPI Apple News
Inside EVs Alixpartners Apple News

The post จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไร?​ แล้วประเทศอื่นทำตามได้ไหม? appeared first on #beartai.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า