[สัมภาษณ์] ชวนมาใช้ชีวิตให้ช้าลงและฟังเพลงเพราะ ๆ ไปกับอัลบั้ม ‘Slower Life’ ผลงานใหม่จาก Dru Chen

ดรูเฉิน (Dru Chen) เป็นนักร้องนักแต่งเพลงป๊อปโซลชาวออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์  เขาเคยได้ทำทั้งการบันทึกเสียง โปรดิวซ์และแต่งเพลงให้กับ Universal Music Publishing, Warner, League of Legends และ Citibank อีกทั้งยังเคยขึ้นแสดงบนเวทีเดียวกันกับ D’Angelo, Babyface, Gentle Bones และ Charlie Lim ที่เทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Jazz Festival) เทศกาลดนตรีโมเสก (Mosaic Music Festival) และโซลเฟสต์ (Soulfest) เป็นต้น อัลบั้มชุดก่อนของเขาคือ ‘Slow Life’ มียอดสตรีมมากกว่า 1 ล้านครั้งบน Spotify  ในขณะที่ปี 2019 อัลบั้ม ‘Mirror Work’ คว้า 10 อัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีของ Freshmusic Award ของไต้หวัน ปัจจุบันนอกจากงานดนตรีแล้วเขายังเป็นอาจารย์ใน School of Technology for the Arts ที่ Republic Polytechnic และเพิ่งปล่อยงานเพลงอัลบั้มชุดล่าสุด ‘Slower Life’ ซึ่งเป็นอัลบั้มเต็มชุดที่ 3 ของเขา

ความรู้สึกโหยหาวันธรรมดา ๆ ที่จะได้มาพูดคุยกับตัวเอง ได้สนุกกับตัวเองจริง ๆ ซักครั้ง และความคิดว่าชีวิตนั้นหากค่อย ๆ ใช้ชีวิตอย่างช้า ๆ ดูบ้าง ก็ไม่เป็นอะไรนะ ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้วางความคิดและใช้ชีวิตช้า ๆ สบาย ๆ ดูบ้าง คือแนวคิดที่เป็นที่มาของงานเพลงในอัลบั้ม ‘Slower Life’ ที่มาพร้อมมุมมองและท่วงทำนองที่จะทำให้เราสดชื่น สบายใจ กับงานเพลงคุณภาพในรสชาติที่หลากหลาย ฟังได้ติดหูแบบสบาย ๆ จากฝีไม้ลายมือของดรูเฉินและเพื่อนศิลปินมากมายที่มาร่วมกันสร้างสีสัน เรามาทำความรู้จักกับงานเพลงในอัลบั้มนี้และมุมมองดี ๆ ของดรูเฉินกัน

คุณคิดธีมสำหรับอัลบั้มล่าสุดของคุณ ‘Slower Life’ ได้อย่างไร ?

ดรูเฉิน : ผมเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวมาก และผมกำลังคิดว่าชีวิตนั้นผ่านไปเร็วมาก บางครั้งอาจจะเร็วเกินไปเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นมันจึงสำคัญมากสำหรับผม สำหรับบางคนอาจชอบเขียนไดอารี่หรือสมุดบันทึกหรืออะไรทำนองนั้น แต่สำหรับผม ผมชอบทำเพลงเพื่อบันทึกช่วงเวลา ดังนั้นหากพระเจ้าทรงประสงค์ว่าผมจะมีชีวิตอยู่จนถึงวัยชรา พอถึงตอนนั้นผมก็จะได้ฟังเพลงที่ผมทำไว้และจดจำสิ่งที่มันบันทึกเอาไว้ได้ ดังนั้นธีมในปี 2023 สำหรับผมก็คือการเก็บความรู้สึกและช่วงเวลาเหล่านี้มาสร้างเป็นอัลบั้มและเรียกมันว่าชีวิตที่ช้าลง (Slower Life)

แสดงว่าคุณเป็นคนที่เชื่อในการใช้ชีวิตให้ ‘ช้าลง’ ใช่ไหม

ดรูเฉิน : สิงคโปร์เป็นหนึ่งในเมืองที่เคลื่อนที่เร็วที่สุด อย่างคุณก็อยู่ในกรุงเทพ ฯ ก็เป็นเหมือนกันใช่ไหม ทั้งวุ่นวายและรวดเร็ว บางครั้งผมรู้สึกว่ามันออกจะบ้าไปหน่อยที่เป็นอย่างนี้ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ผมทำเพลง ผมหวังว่าเมื่อมีคนใส่หูฟังแล้วฟังเพลงของผม พวกเขาจะได้สูดลมหายใจเข้าปอดและสัมผัสทุกท่วงทำนองที่กำลังบอกกับคุณว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย

การเผชิญหน้ากับตัวตนภายในของคุณในระหว่างการทำอัลบั้ม ส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตและความคิดสร้างสรรค์ในงานของคุณ

ดรูเฉิน : จริง ๆ แล้วมันค่อนข้างซับซ้อนเหมือนกันครับ สำหรับผมแล้วเวลาที่ผมเขียนเพลงและทำดนตรี หรือแม้กระทั่งแค่ร้องเพลงให้ถูกต้อง มันมักจะสะท้อนถึงสิ่งที่ผมรู้สึกอยู่ข้างใน มีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เราได้เรียนรู้เมื่อเราผ่านบทต่าง ๆ ในชีวิตของเรา บางทีเราอาจแต่งงานหรือบางทีเราอาจจะมีเพื่อน มีคนเข้ามาและจากไป หรือแม้กระทั่งเรื่องงานที่ก็เข้ามาและก็เปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน สำหรับผมแล้วสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีผลกระทบอย่างแน่นอน ตอนนี้ผมก็อายุ 33 ปีแล้ว เรามีความรับผิดชอบมากขึ้นถึงแม้ว่าผมจะยังไม่มีลูก ดังนั้นมันอาจเป็นสิ่งที่คุณอาจเห็นครั้งได้ในครั้งต่อไปที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผม และการเขียนเพลงของผมมันก็อาจจะเกี่ยวกับเด็ก ๆ และครอบครัว ดังนั้นมันจึงแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละส่วนหรือช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต

พอดีเลยกับที่คุณพูดเรื่องการมีลูก เพราะมีอยู่เพลงหนึ่งในอัลบั้ม ‘Slower Life’ ชื่อว่า “Utopia Reimagined: If You Knew” ที่ผมฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเพลงที่สะท้อนมุมมองด้านบวก เหมือนตัวละครในเพลงกำลังคุยกับเด็กแรกเกิด เป็นการบอกให้ลูกของเราหรือเด็กน้อยได้รู้ว่ามีสิ่งใดที่ควรเข้าใจในการใช้ชีวิต อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้แต่งเพลงนี้

ดรูเฉิน : แรงบันดาลใจในการเขียนเพลงนี้ก็คือ ผมต้องการเขียนบางสิ่งสำหรับเด็กแรกเกิด อย่างถ้าในวันข้างหน้าผมโตพอและได้รับโอกาสที่งดงามที่จะได้เป็นพ่อ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ผมอยากจะร้องให้กับเด็กคนนั้น เพราะมันเหมือนกับว่าเด็กคนนั้นยังไม่เคยสัมผัสกับโลก เขายังคงไร้เดียงสาและโลกของเขานั้นมันเปิดกว้างและวิเศษมาก เขาจึงมีความมั่นใจและความสุขแบบนั้น นั่นเป็นความรู้สึกที่หวานอมขมกลืนมาก ตอนที่ตัวผมเองเริ่มอายุมากขึ้นแล้ว ผมรู้สึกว่าผมกำลังสูญเสียสิ่งนั้นไป แต่ผมยังคงหวังและอธิษฐานขอให้ความคิดและเจตคตินั้นยังคงอยู่ นั่นเหมือนกับเป็นความเชื่อในความดีงามของจักรวาล เพราะผมคิดว่าความคิดเชิงบวกสามารถทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ได้ดี และผมคิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาความสดใหม่ ความเชื่อมั่นและศรัทธาแบบนั้นเอาไว้

อัลบั้มนี้คุณได้ร่วมงานกับศิลปินมากมายเลย ขั้นตอนของคุณในการเลือกศิลปินที่จะมาทำงานร่วมกันด้วยคืออะไร และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันในอัลบั้มนี้เป็นยังไงบ้าง

ดรูเฉิน : ผมคิดว่าการทำอัลบั้มให้เหมาะกับผม อย่างไรก็ตามมันสำคัญมากที่จะต้องมีความคิดเห็นของคนอื่น เพราะพวกเขาสามารถมองผ่านจุดบอดของผมได้ บางทีผมอาจจะตาบอดในบางสิ่ง หรือผมไม่ได้คิดแบบนี้ สำหรับเรื่องการเลือกคนมาร่วมงาน จริง ๆ แล้วผมไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าจะร่วมงานกับคนนี้หรือคนนั้น มันเป็นโชคดีมากของผมที่มี Joel Tan (Gentle Bones) ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมากในสิงคโปร์คนหนึ่ง ในบรรดาศิลปินชั้นนำของสิงคโปร์ Joel จริง ๆ แล้วมีค่ายเพลงของตัวเอง ชื่อว่า Yung Lee Records และเขาก็เป็นผู้จัดจำหน่ายอัลบั้ม ‘Slower Life’ ของผมด้วย นอกจากนี้เขายังเป็นหัวหน้าทีม A & R ของศิลปินในค่าย ด้วยเหตุนี้เขาจึง เป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของผมและกระบวนการทำงานของผม ในแง่ของการแนะนำอย่าง ‘เฮ้ดรู ผมคิดว่านี่จะได้ผลนะ ผมคิดว่านั่นจะโอเคนะ ผมคิดว่าคุณควรลองสิ่งนี้ คุณควรจะทำเพลงแบบนี้นะ’ คำแนะนำดี ๆ มากมายมาจากเขาจริง ๆ และเราก็พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องการร่วมงานกับศิลปิน จากนั้นเราก็หาวิธีติดต่อกับศิลปินที่เรารู้จัก โดยปกติแล้วผมเป็นแฟนคลับของศิลปินอยู่แล้ว ผมรักงานของพวกเขาอย่าง Charlie Lim ผมก็รู้จักเขามานานกว่า 12-13 ปี ตั้งแต่เรายังเป็นวัยรุ่น และ Calvert Tay ก็มีเสียงที่น่าทึ่ง ส่วน Shye ผมก็ติดตามเธอมา 2-3 ปีแล้ว เธอมีพรสวรรค์มาก และ Rangga Jones ผมก็เป็นแฟนเพลงของเขามาตลอดตั้งแต่เขาเริ่มสร้างผลงาน ดังนั้นมันจึงเป็นธรรมชาติมากเลย และมันก็เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่ทำให้อัลบั้มนี้มีสีสันมากครับ

Rangga Jones , Dru Chen และ Gentle Bones

ปกติแล้วคุณมีวิธีการแต่งเพลงยังไง

ดรูเฉิน : ปกติแล้วผมจะเล่นกีตาร์ไปเรื่อย ๆ หรือบางทีก็เปียโน คีย์บอร์ดครับ โซนสบายในพื้นที่ของผมจะต้องมีกีตาร์หรือมีเปียโน และผมจะเล่นคอร์ดไปเรื่อย ๆ จนเจอสิ่งที่ใช่ แล้วผมก็จะมีสมุดบันทึกบางครั้งผมก็จะออกไปที่ร้านกาแฟมีกาแฟสักแก้ว แล้วผมก็แค่เขียนอะไรลงไป ถ้าผมมีเวลา ผมก็จะทำแบบนี้ครับ หรือ อย่างถ้านั่งอยู่บนรถไฟหรือรถเมล์ผมก็จะใช้โทรศัพท์บันทึกไอเดียอะไรเอาไว้ ผมเขียนชื่อเพลงไว้มากมายเลย และมันจะเป็นอะไรก็ได้ที่ผมรู้สึก ดังนั้นผมจะเขียนมันลงไปโดยไม่กรองเลย จากนั้นผมก็จะมาคิดทำนอง คิดโน้ตดนตรีและแนวคิดทั้งหมด สุดท้ายเมื่อถึงเวลาบันทึก ผมก็จะนั่งลงกับคอมพิวเตอร์โดยที่มีซอฟแวร์ทำเพลงอย่าง Logic หรือซอฟต์แวร์อะไรก็ตาม จากนั้นผมก็จะเริ่มทำเพลงและใช้ไมโครโฟนบันทึกเสียงร้องลงไป เริ่มร้องเพลงตั้งแต่บรรทัดบนสุดไล่ไปจนจบเพลง เย้ ! แค่นั้นเลยครับ แล้วผมก็มิกซ์มันเองด้วย ในฐานะที่ผมเป็นทั้งนักร้อง-นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ ดังนั้นผมจึงสนุกที่จะทำมันเองในแต่ละขั้นตอนครับ

นอกจากเป็นนักดนตรี นักร้องนักแต่งเพลง หรือโปรดิวเซอร์แล้ว คุณมีอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นอาจารย์ด้วย คุณมีแนวทางในการส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ให้เติบโตเป็นนักดนตรีมืออาชีพหรือรู้วิธีการทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีอย่างไรบ้าง

ดรูเฉิน : ในช่วงโควิดมันส่งผลกระทบต่องานเพลงงานดนตรี ตอนนั้นจึงเป็นตอนที่ผมเริ่มมาสอนมากขึ้น จริง ๆ แล้วผมเริ่มสอนอะไรสักอย่างตั้งอายุประมาณ 15-16 ปี แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องค่าขนมเลยครับ ดังนั้นผมเลยสอนดนตรีทั้งกีตาร์ เปียโน ไวโอลิน ทฤษฎีดนตรีและอะไรอีกมากมาย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมก็เริ่มสอนเป็นงานพาร์ทไทม์ และจากนั้นผมก็ค่อยๆ กลายเป็นอาจารย์พิเศษ จนมาในช่วงโควิดผมก็เลยเปลี่ยนเป็นอาจารย์ประจำแบบทำงานเต็มเวลา ผมมีความตั้งใจมากว่าสิ่งที่บรรยายและสอน มันต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาของผม ผมเริ่มลองให้พวกเขาได้ทำงานจริง ๆ เริ่มจากได้มิกซ์เพลง แน่นอนว่าเพลง “Utopia Reimagined: If You Knew” ที่คุณถามถึง ก็เป็นฝีมือการมิกซ์ของนักศึกษาครับ เพื่อให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกับผมจริง ๆ เราเลยลองผสมเสียง Dolby Atmos กับลำโพงทั้งหมดรอบตัวเรา มันน่าทึ่งมากเลย และยิ่งผมทำโปรเจ็กต์เหล่านี้มากเท่าไหร่ ผมก็จะนำมันเข้ามาในห้องเรียนเสมอครับ อย่างเวลาจะพูดเรื่องซาวด์ ผมก็จะใช้ตัวอย่างจากเพลงที่ผมทำไว้ มันเหมือนเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องแน่ใจว่านักศึกษาของเราจะสามารถหางานทำในอุตสาหกรรมดนตรีและมีความสามารถและทักษะที่เพียงพอในการทำมาหากินครับ

ถ้าให้คุณเลือกสักเพลงสำหรับแฟน ๆ ชาวไทย คุณจะเลือกเพลงอะไรและเพราะอะไร

ดรูเฉิน : ว้าว เลือกยากเหมือนกันนะครับ เพราะในประเทศไทยมีแนวเพลงที่แตกต่างกันมากมายเลย แต่ถ้าให้เลือก ผมเลือกเพลง “Mess In Me” ซิงเกิลล่าสุดของผมครับ ผมรู้ว่าคนไทยเป็นคนอบอุ่นและใจดี ทุกครั้งที่ผมมาประเทศไทย ผมจะประหลาดใจเสมอที่ได้สัมผัสกับคนไทยที่งามทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นผมคิดว่าเพลงที่เหมาะสำหรับผู้ฟังชาวไทยต้องมีเมโลดี้ที่สวยงาม และมีบางสิ่งที่อบอุ่น ซึ่ง “Mess In Me” เป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกแบบนั้นเลยครับ มันเกี่ยวกับการเปิดเผยตัวเองว่าถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองมีข้อบกพร่องแต่มันจะไม่เป็นไร และผมคิดว่านั่นเป็นเพลงที่อบอุ่นที่ผมอยากจะแนะนำสำหรับผู้ฟังชาวไทยครับ

อยากฟังคุณแสดงสด ๆ ที่ไทยแล้ว

ดรูเฉิน :  โอ้ ยินดีมาก ๆ เลยครับ ผมหวังมาก ๆ เลยว่ามันจะเป็นเช่นนั้นอย่างน้อยก็อาจจะเป็นอะคูสติกโชว์ก็ได้ หวังว่ามันจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้นะครับ แล้วไว้พบกันครับ

The post [สัมภาษณ์] ชวนมาใช้ชีวิตให้ช้าลงและฟังเพลงเพราะ ๆ ไปกับอัลบั้ม ‘Slower Life’ ผลงานใหม่จาก Dru Chen appeared first on #beartai.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า