Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) แอนิเมเตอร์ ผู้กำกับแอนิเมชัน และผู้ก่อตั้งสตูดิโอแอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่นระดับโลกอย่าง สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) เคยลั่นวาจาเอาไว้ว่า ‘The Wind Rises’ (2013) จะเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์อนิเมะชิ้นสุดท้ายของเขาก่อนจะเกษียณ แต่สุดท้าย มิยาซากิที่เพิ่งอายุครบ 83 ปีหมาด ๆ ก็กลับมาอีกครั้งกับ ‘The Boy and the Heron’ ผลงานหนังอนิเมะเรื่องใหม่ล่าสุดของจิบลิ และผลงานการกำกับ-เขียนบทชิ้นแรกในรอบ 10 ปีของมิยาซากิ ที่มาแรงทั้งคำวิจารณ์และรายได้ทั้งในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และเพิ่งโฉบคว้ารางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม จากเวทีลูกโลกทองคำปีล่าสุดไปแล้วเรียบร้อย

ตัวหนังได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือนวนิยายเล่มโปรดในวัยเด็กของเขาในชื่อ คิมิตาจิวะ โดอิกิรุคะ (君たちはどう生きるか) ผลงานของ โยชิโนะ เก็นซาบุโร (Yoshino Genzaburo) ที่ตีพิมพ์ในปี 1937 แต่ว่าเนื้อเรื่องจะไม่ได้เป็นการดัดแปลงโดยตรงมาจากหนังสือนะครับ แต่เป็นการอ้างอิงแรงบันดาลใจและชื่อเรื่องเฉย ๆ ผสมผสานกับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวในวัยเด็กของมิยาซากิ ทั้งพ่อที่เป็นเจ้าของกิจการโรงงาน และการสูญเสียคุณแม่ของตัวเอง โดยได้ ทาเคชิ ฮอนดะ (Takeshi Honda) คีย์แอนิเมเตอร์จาก ‘Tales from Earthsea’ (2006) และ ‘From up on Poppy Hill’ (2011) มารับหน้าที่กำกับแอนิเมชัน และโจ ฮิซาอิชิ (Joe Hisaishi) คอมโพสเซอร์ขาประจำของจิบลิ อาทิ ‘My Neighbor Totoro’ (1988), ‘Porco Rosso’ (1992), ‘Spirited Away’ (2001) และ ‘Ponyo’ (2008) มาประพันธ์เพลงสกอร์ให้เช่นเคย

The Boy and The Heron © 2023 Studio Ghibli

ตัวหนังเล่าเรื่องช่วงเวลาปี 1943 ในช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 มาฮิโตะ มากิ (โซมะ ซานโตกิ – Soma Santoki) เด็กชายที่สูญเสียแม่อย่างกะทันหันจากเหตุเพลิงไหม้ที่โรงพยาบาลในโตเกียว เขาและโชอิจิ (ทาคุยะ คิมุระ – Takuya Kimura) พ่อผู้เป็นเจ้าของโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ จึงอพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังใหญ่ในชนบทของ นัตสึโกะ (โยชิโนะ คิมุระ – Yoshino Kimura) น้าสาวของมาฮิโตะ และภรรยาใหม่ของพ่อ

มาฮิโตะต้องใช้ชีวิตอันยากลำบากท่ามกลางความรู้สึกสูญเสียคุณแม่ การปรับตัวในโรงเรียนใหม่ และการปรับตัวเข้ากับน้าสาวในฐานะแม่เลี้ยง จนกระทั่งวันหนึ่ง มาฮิโตะได้พบกับนกกระสาสีเทา (มาซากิ สุดะ – Masaki Suda) ที่ได้ชักชวนให้เขาไปตามหาแม่ที่จากไปในหอคอยลึกลับ จนทำให้เขาได้เข้าไปผจญภัยเพื่อตามหาความลับบางอย่างในโลกใบใหม่

The Boy and The Heron © 2023 Studio Ghibli

สำหรับแฟน ๆ ที่รักในความเป็นจิบลิ หนังเรื่องนี้ก็ยังคงมีเอกลักษณ์ในความเป็นจิบลิอย่างครบถ้วนครับ ทั้งเรื่องราวการผจญภัยแฟนตาซี งานภาพ 2 มิติที่ยังคงสวยงามและไหลลื่น จะแปลกตาก็ตรงที่เรื่องนี้มีวิชวลล้ำ ๆ ที่มีความไซไฟอลังการมาก ๆ ที่ผู้เขียนอยากเชียร์ให้ไปดูกับจอใหญ่ในโรง รวมทั้งการแฝงเรื่องราวความโหดร้ายของสงคราม การผจญภัยในโลกต่างมิติ ที่ชวนให้นึกถึง ‘Spirited Away’ นิด ๆ มุกตลกสไตล์มิยาซากิที่เคลือบอยู่บาง ๆ รวมทั้งคาแรกเตอร์น่ารักขโมยซีน ทั้งเจ้า วาราวารา (Warawara) ที่อาจถูกตีความให้เป็นตัวแทนของวิญญาณในโลกแห่งความตาย ที่มาขโมยซีนแบบสั้น ๆ และกองทัพนกแก้ว ที่ดูน่ากลัวแต่ก็แอบฮา

แม้หน้าหนังจะเป็นหนังจิบลิ แต่งานนี้บอกได้เลยว่านี่ไม่ใช่หนังการ์ตูนบันเทิงแกล้มป๊อปคอร์นแน่ ๆ เพราะมันเป็นหนังของมิยาซากิที่จะว่าไปก็มีความเป็นส่วนตัวมาก ๆ ในระดับหนึ่งเลย มันไม่ใช่งานน่ารักย่อยง่ายแบบ ‘Ponyo’ (2008) มันไม่ได้แฟนตาซีสดใสเหมือน ‘Spirited Away’ (2001) มันไม่ได้หล่อเท่แบบ ‘Posco Rosso’ (1992) และวิชวลที่หนังใช้สื่อสาร แม้จะยังพอมีเส้นเรื่องบาง ๆ เอาไว้ให้ติดตาม แต่ตัวหนังค่อนข้างไปในแนวทางกับผลงานของมิยาซากิยุคหลัง ๆ ที่ไม่ได้ขายความร่าเริงสดใสหรือดราม่า แต่กลับเล่าทุกอย่างผ่านวิชวลที่แฟนตาซีและมีความไซไฟมาก ๆ

The Boy and The Heron © 2023 Studio Ghibli

เพื่อสื่อสารเรื่องราวที่มีต้นกำเนิดจากแรงบันดาลใจ และแง่มุมจากช่วงชีวิต เป็นการจินตนาการและการเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นฐานและทัศนะที่เป็นอัตวิสัยของมิยาซากิอย่างชัดเจน ทำให้หนังยุคหลัง ๆ ของมิยาซากิจึงมีความเป็นส่วนตัวอยู่ในระดับหนึ่ง รวมทั้งการไม่ประนีประนอมในการเล่าเรื่อง ด้วยการใช้งานภาพ วิชวล และสกอร์ ในการสื่อสัญญะบางอย่าง การปูเข้าและเล่าเรื่องใน Pace อันเชื่องช้า ไม่มีไคลแม็กซ์หรือจุดกระตุกกราฟ แม้แต่การตัดต่อและการลำดับเรื่องก็ยังมีความแปลกแตกต่างจากปกติ จนหลายคนอาจรู้สึกอีดอัดในจังหวะปูเรื่องและการลำดับเรื่องที่เนือยช้าก็เป็นได้

รวมไปถึงการใช้วิชวลต่าง ๆ ในการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละครแทนการใช้ไดอะล็อก การไม่ได้มีใครหรืออะไรคอยไกด์ว่าเนื้อเรื่องว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างอย่างไร สิ่งที่ผู้ชมต้องเจอจึงไม่ใช่แค่ตามเฝ้าดูผลกระทบของสงคราม ความเศร้า การสูญเสีย และการผจญภัยโลกที่มีภาวะ ‘กึ่งเป็นกึ่งตาย’ ของมาฮิโตะเฉย ๆ แต่ด้วยวิชวลโดยรวมเหล่านั้น แต่ยังเรียกร้องสมาธิของผู้ชมให้มุ่งเน้นในการตีความสัญญะ และขมวดปมต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยตนเอง และดีไม่ดีก็อาจจะต้องกลับมาดูซ้ำด้วยถ้าเป็นไปได้ เพราะสัญญะบางอย่างก็อาจไม่ได้ย่อยง่ายนักจากการดูผ่านตาเนื้อ

The Boy and The Heron © 2023 Studio Ghibli

สัญญะที่อยู่ภายในหนัง แม้จะเป็นเรื่องอัตวิสัยของมิยาซากิ ที่จริง ๆ แล้วก็มีประเด็นที่เป็นกรอบอยู่ ทั้งการถ่ายทอดความโหดร้ายของสงคราม บาดแผลทางจิตใจ หรือ Trauma จากการสูญเสียแม่ ความรู้สึกต่อต้านในตัวพ่อที่เป็นเจ้าของโรงงานผลิตอาวุธป้อนสงคราม หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่ไม่ทันตั้งรับ ความรู้สึกห่างเหินจากน้าที่เป็นน้องสาวแม่ แต่ก็ไม่ใช่แม่ ในขณะที่โลกอีกมิติที่นกกระสาตัวนั้นพาไปพบเจอ อาจหมายถึงโลกแห่งความตาย ที่อาจตีความหมายถึงนรกภูมิที่มีมัจจุราชและวิญญาณสถิตอยู่ มันอาจหมายถึงการผจญภัยกลับเข้าไปภายในความคิดและจิตใจอันหม่นเศร้าของมาฮิโตะ เพื่อสำรวจความเศร้าสร้อยและ Trauma จากภายในที่ปะทุกลายเป็นความโกรธเกรี้ยว

มันอาจเป็นตัวแทนภาพความทรงจำของญาติผู้ใหญ่ผู้ล่วงลับที่อาจมาในรูปแบบต่าง ๆ ในความคิดของเรา และมันอาจหมายถึงการซ่อมแซมความคิดและความรู้สึกภายใน เพื่อให้ตัวเองสามารถยอมรับและโอบกอดความเจ็บปวด เพื่อให้มีชีวิตได้ต่อไป ในขณะเดียวกันมันก็อาจสื่อสารไปถึงสังคมโลก (หรือสังคมญี่ปุ่น) ในปัจจุบัน ในแง่ของความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำด้วยกันอย่างชาชิน รวมทั้งการยอมรับว่า ความเจ็บปวดและความตาย คือสัจธรรมของโลก สิ่งที่เราทำได้อาจไม่ใช่การพยายามหลบหนี แต่เป็นการยอมรับในบาดแผลนั้น เผชิญหน้ากับความเป็นจริง และก้าวข้ามความเจ็บปวดไปด้วยความหวังที่ยังพอจะมีอยู่

The Boy and The Heron © 2023 Studio Ghibli

แม้หนังอนิเมะเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยความแฟนตาซีกึ่งไซไฟที่มีเอกลักษณ์และจินตนาการอันล้ำลึกเกินคำบรรยาย และไม่ใช่หนังที่จะดูง่ายหรือย่อยได้ง่ายจากการดูเพียงครั้งเดียว แต่แก่นแท้ของหนังเรื่องนี้ คือการเป็นหนัง Coming of Age ที่ยังคงมีเอกลักษณ์และลายเซ็นของจิบลิอย่างครบถ้วน ที่อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบที่สุด หรือเป็นหนังจิบลิที่ดูแล้วประทับใจน้ำตาริน แต่เป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวความโหดร้ายและงดงามของชีวิต สัจธรรม ความตาย ความกลัวการก้าวผ่านความเจ็บปวด การเผชิญหน้าและยอมรับความเป็นจริงและดำรงอยู่ในโลกอันแสนโหดร้าย ผ่านวิชวลล้ำ ๆ ที่มีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม และท้าทายให้ผู้ชมย่อยสัญญะและตีความสิ่งที่ตกตะกอนในความคิดด้วยตัวเอง

ถ้าจะพูดแบบมองโลกในแง่ร้าย หากนี่คือผลงานสุดท้ายของอาจารย์มิยาซากิจริง ๆ ผลงานชิ้นนี้ก็ถือว่าเป็นผลงาน Farewell ชิ้นสุดท้ายที่เหมาะสมและคู่ควรกับการเป็นมรดกของวงการแอนิเมชัน และเป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ก่อนที่ตัวเราจะออกเดินทางไปยังที่อันแสนไกลได้อย่างงดงามและสมศักดิ์ศรีอยู่มากทีเดียว


The Boy and The Heron © 2023 Studio Ghibli
The Boy and The Heron © 2023 Studio Ghibli
The Boy and The Heron | เด็กชายกับนกกระสา | 君たちはどう生きるか
คุณภาพด้านการแสดง
8.7
คุณภาพโปรดักชัน
9.4
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8
ความบันเทิง
6.5
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.2
จุดเด่น
งานด้านภาพและวิชวลเต็มไปด้วยความแฟนตาซีและไซไฟ อลังการเหมาะกับการดูบนจอใหญ่
แฝงสัญญะแห่งสัจธรรม ความตาย การยอมรับความจริง และการก้าวข้ามความโหดร้ายได้อย่างทรงพลัง
มีทุกอย่างที่จิบลิควรมีครบ ทั้งตัวละครน่ารัก ดราม่า ฟีลกู้ด คาแรกเตอร์น่ารัก มุกตลก
จุดสังเกต
สัญญะด้านวิชวลและเรื่องราวอาจไม่ได้ย่อยง่ายและบันเทิงเหมือนกับอนิเมะของจิบลิเรื่องอื่น ๆ
เดินเรื่อง ปูเรื่องเนือยช้า การตัดต่อมีความแปลก คนที่ไม่ชินอาจไม่ชอบ
8.2
The Boy and The Heron

The post [รีวิว] The Boy and The Heron: อภิมหามวลวิชวลปรัชญาชีวิตแห่งความเป็นจริง ความตาย และการปล่อยวาง appeared first on #beartai.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า