Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

หลังจากความสำเร็จของหนังเดี่ยวซูเปอร์ฮีโรเจ้าสมุทร ‘Aquaman’ ที่ออกฉายในปี 2018 และทำรายได้กว่า 1,152 ล้านเหรียญ จนขึ้นแท่นหนังทำรายได้มากที่สุดของจักรวาล DCEU หลังจากนั้นมาดูเหมือนว่าจะไม่มีหนังเรื่องไหนที่ไปได้ถึงจุดสูงสุดแบบที่หนังเรื่องนี้เคยทำได้อีกเลย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของ DC Extended Universe ล้วนแต่มีขวากหนาม ทั้งคุณภาพหนัง ชื่อเสียสุดอื้อฉาวของนักแสดง การแทรกแซงแก้ไขของค่าย และโน่นนั่นนี่อีกมากมาย เอาเฉพาะหนังของ DC ในปีทั้ง ‘Shazam! Fury of the Gods, ‘The Flash’ และ ‘Blue Beetle’ ที่ล้วนแล้วแต่ไม่เวิร์กในด้านรายได้ทั้งสิ้น

จนมาถึงปลายปี พ่อใหญ่ฮีโรเจ้าสมุทร จึงต้องกลายเป็นความหวังของหมู่บ้าน ในหนังภาคต่อ ‘Aquaman and the Lost Kingdom’ ผู้รับหน้าที่ปิดจักรวาล DCEU ก่อนการมาถึงของจักรวาล DCU หรือ DC Universe ในปี 2025 โดยในภาคนี้ยังคงได้นักแสดงและทีมงานชุดเดิมกลับมาครบทีมนะครับ ทั้งผู้กำกับสายสยองขวัญ เจมส์ วาน (James Wan) ที่หลังจากจบงานนี้ พี่เค้าก็คงไปทุ่มเทเวลาให้กับหนังสยองขวัญของค่าย Blumhouse ของบ้าน Universal Pictures แบบเต็มตัวแล้วล่ะ และยังคงได้ เดวิด เลสลี จอห์นสัน-แม็กโกลดริก (David Leslie Johnson-McGoldrick) ผู้เขียนบทจาก ‘Aquaman’ ภาคแรกกลับมาเขียนบทในภาคนี้ด้วย

Aquaman and the Lost Kingdom ©2023 WARNER BROS. ENT.

เรื่องราวในภาคนี้จะเล่าต่อจากบทสรุปของภาคที่แล้วนะครับ หลังจากที่ เดวิด เคน/แบล็กแมนตา (ยาห์ยา อับดุล-มาทีน ที่ 2 – Yahya Abdul-Mateen II) ได้พ่ายแพ้ในการต่อสู้กับ อาร์เธอร์ เคอร์รี/อควาแมน (เจสัน โมโมอา – Jason Momoa) ราชาแห่งแอตแลนติส และพ่อของลูกชาย (ด.ช. อาร์เธอร์จูเนียร์) ที่เกิดกับ เมรา (แอมเบอร์ เฮิร์ด – Amber Heard) อีกต่างหาก แต่ด้วยรอยแค้นจากการสูญเสียพ่อที่ยังไม่จางหาย (ในภาคแรก) แบล็กแมนตาจึงพยายามกลับมาเพื่อหวังจะทำลายเมืองใต้น้ำแอตแลนติส และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของอควาแมนให้สิ้นซาก

ราชาแห่งเจ็ดคาบสมุทรอย่างอควาแมน จึงต้องเดินทางไปตามหา ออร์ม (แพตทริก วิลสัน – Patrick Wilson) น้องชายต่างพ่อที่โดนคุมขังเอาไว้ในอาณาจักรดีเซอร์เทอร์ ใต้ทะเลทรายซาฮารา ร่วมกันออกผจญภัยไปยังอาณาจักรแห่งสุดท้ายที่หายสาบสูญ เพื่อร่วมกันหยุดภัยร้ายที่จะทำลายครอบครัวของเขา อาณาจักรแอตแลนติส โลกใต้สมุทร และโลกทั้งใบเอาไว้ให้ได้

Aquaman and the Lost Kingdom ©2023 WARNER BROS. ENT.

โดยภาพรวมในภาคนี้ ต้องเรียกได้ว่าทั้งวานและทีมงานเองค่อนข้างรู้ชัดเจนแหละว่า สูตรที่ทำให้ ‘Aquaman’ ภาคที่แล้วประสบความสำเร็จได้อย่างไร โดยเฉพาะการที่หนังนั้นมีจุดแข็งที่แตกต่างจากซูเปอร์ฮีโร DC เรื่องอื่น ๆ ทั้งการเสิร์ฟความบันเทิงสไตล์หนังป๊อปคอร์นแบบครบรส ทั้งมุกตลก Mood และงานสร้างที่มีความแฟนตาซีติดเพี้ยนนิด ๆดราม่าครอบครัว จังหวะสยองขวัญ แอ็กชันหนัก ๆ ฉากสงครามตื่นตา เมืองแอตแลนติสสุดอลัง ไม่ต้องดูหนัง DC เรื่องอื่นมาก่อนก็เข้าใจ

ที่สำคัญคือ เป็นหนังที่ไม่ต้องเก๊กหรือซีเรียสเพื่อทำเท่ แต่เป็นหนังที่ถ้าอยากเท่ก็เท่ได้ แต่ถ้าอยากลิเกก็เอาเรื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้แหละคือสิ่งที่คนดูชอบในภาคแรก ตัวหนังก็เลยหยิบเอาจุดแข็งเหล่านั้นมาเป็นแม่แบบให้กับภาคนี้ด้วย แต่ก็ยังเห็นได้ถึงการเปลี่ยน Vibe ต่าง ๆ ให้เหมาะกับภาคนี้ด้วย ทั้งการเพิ่มมิติและบริบทของเส้นเรื่องที่เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะวิกฤติโลกร้อน สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน ซึ่งเป็นผลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากท้องทะเล ที่เพิ่มมาได้ในระดับที่พอดีและไม่ได้รู้สึกยัดเยียด แต่อาจจะไม่ได้มีการขยี้ต่อให้ดูน่ากลัวจนขนลุก

Aquaman and the Lost Kingdom ©2023 WARNER BROS. ENT.

อีกจุดที่ปรับอย่างชัดเจนก็คือ การปรับให้ภาคนี้มีความเป็นหนังแนวคู่หูผจญภัยในอดีต ฝั่งพี่ก็เน้นโบ๊ะบ๊ะ ฮาบ้างแป้กบ้าง ระหว่างทางก็ต้องเจอกับความเพี้ยน และจังหวะสยองขวัญที่เข้มข้นขึ้นกว่าในภาคแรก อีกสิ่งที่ชัดเจนก็คือ การมีบทบาทเพิ่มของบรรดาตัวละครสมทบในภาคที่แล้ว โดยเฉพาะวิลสัน ที่ในภาคนี้จะเริ่มมีบทบาทเป็นชิ้นเป็นอันชัดเจน โดยเฉพาะการรับบทน้องต่างพ่อที่ยังคงมีปมไม่ยอมรับพี่ชายของตัวเอง และรวมถึงการรับบทเน้นมุกหน้าตายที่ได้ฮาอยู่เหมือนกันนะ อีกจุดก็คือ การเพิ่มฉากแอ็กชันแรง ๆ เยอะขึ้นมาก คือถ้าภาคที่แล้วเน้นสมรภูมิใต้น้ำ ภาคนี้ก็หันมาเน้นแอ็กชันตัวต่อตัวภาคพื้นดินมากขึ้น ก็เลยจะได้เห็นคู่หูรุมอัดศัตรูแบบแรง ๆ มากขึ้น ในขณะที่ซีนสงครามใต้น้ำก็ยังถือว่าทำออกมาได้น่าติดตามและอลังการ เพียงแต่อาจจะไม่อลังและจัดเต็มเท่าภาคแรก

แต่ที่โดนลดแน่ ๆ ก็คือบทบาทราชินีเมรา ของเจ๊ แอมเบอร์ เฮิร์ด ที่แต่ก็เป็นไปตามที่วานเคยให้สัมภาษณ์ว่าในภาคนี้เมราจะถูกลดความสำคัญ เพื่อไปโฟกัสที่อควาแมนและออร์มเป็นหลัก ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ยังถือว่ามีซีนให้เห็นอยู่พอสมควรแหละนะครับ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ด้วยกระบวนการหลังบ้าน ทั้งถ่ายซ่อม แก้บท หรือตัดต่อใหม่ หรืออะไรก็ตามแต่ ก็เลยทำให้เมราในภาคนี้ไม่ได้มีเส้นเรื่องและบทบาทเป็นของตัวเองสักเท่าไหร่ ออกแนวเป็นคนเบื้องหลังคอยซัปพอร์ตพระเอกมากกว่า ผู้เขียนแอบจับความรู้สึกได้ว่า หลาย ๆ ซีนที่ถูกแก้ออกไปนี่คือเข้ามาเป็นต้วแก้ ตัวพลิกสถานการณ์ให้กับอควาแมนเลยด้วยซ้ำ

Aquaman and the Lost Kingdom ©2023 WARNER BROS. ENT.

สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของหนังก็คงหนีไม่พ้นบทและการตัดต่อครับ ในแง่บทอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก เพราะตัวหนังเลือกมาทางบันเทิง ก็พอเข้าใจได้ว่าตัวหนังก็เลยเดินเรื่องแบบเป็นเส้นตรงไม่ซับซ้อน ดูง่าย เดาง่ายแบบเดียวกับภาคแรก รูปแบบของ Conflict และ Vibe หรือลูกล่อลูกชนต่าง ๆ ซึ่งในมุมหนึ่งก็อาจถูกมองว่านี่คือสูตรที่ลงตัวแล้วของหนังชุดนี้ แต่ในอีกมุมก็อาจมองได้ว่ามันแทบจะถอดแบบมาจากภาคแรกจนขาดความสดใหม่ไปเลย หรือถ้าเอาแบบตรง ๆ ก็คือตัวหนังก็ยังมีความกินบุญเก่าจากภาคที่แล้วเยอะพอสมควร อาศัยแค่การปรับโทนบางอย่างเพิ่มขึ้นและเอาบางอย่างออกเท่านั้นเอง

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างชัดเจนก็คือการตัดต่อครับ ซึ่งการตัดต่อ (รวมถึงการถ่ายซ่อม+ปรับบทใหม่) ก็คงหนีไม่พ้นด้วยเหตุผลเพราะต้องการกั๊กตัวละครบางตัวเอาไว้ ไม่รู้ว่าบทหนังดั้งเดิมจะออกมาเป็นแบบไหนนะครับ แต่ผู้เขียนเชื่อลึก ๆ ว่าตัวละครนี้แต่เดิมน่าจะมีบทบาทในระดับหนึ่งแหละ แต่ด้วยดราม่าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทีมงานก็เลยต้องงัดกระบวนท่าเพื่อให้ตัวละครนี้ยังอยู่ในฐานะตัวละครสมทบที่มีบทพูดเท่านั้นเอง

Aquaman and the Lost Kingdom ©2023 WARNER BROS. ENT.

ผลที่เกิดขึ้นกับตัวหนังก็คือ ร่องรอยการตัดต่อแบบ Jump Cut และการ Fade เข้า Fade ออก ที่ทำให้หนังออกมามีจังหวะแปลก ๆ บางช่วงยืดเนือย บางช่วงรวบรัด บางช่วงคล้าย ๆ เหมือนหนังแหว่งหายไปเลยก็มี เสียดายที่น่าจะมีจังหวะ เวลา และเส้นเรื่อง ที่เอาจริง ๆ แล้วหนังอุดมไปด้วยเส้นเรื่องที่มีศักยภาพในการขยี้อารมณ์ความรู้สึกให้คล้อยตามได้ ทั้งดราม่าครอบครัว หรือชะตากรรมของแอดแลนติส ที่ถ้าเพิ่มตรงนี้ได้ก็จะเพิ่มความมีหัวใจให้กับหนังขึ้นมาได้เลย

แต่สุดท้ายตัวหนังก็เลยเต็มไปด้วยอารมณ์แห้ง ๆ จะสุขก็ไม่สุด ดราม่าก็กึ่ง ๆ เป็นบทสรุปที่จบแล้วก็จบกันไป ไม่สามารถสร้างหรือทิ้งค้างความรู้สึกประทับใจ ซึ้ง ฮา หรือผูกพัน เสียดายอยากให้มีภาค 3 ฯลฯ เอาไว้ได้เป็นชิ้นเป็นอันและไปได้สุดเหมือนอย่างที่ภาคแรกเป็นได้มากนัก รวมถึงละครบางตัวจากภาคแรก ที่แม้ว่าจะมีบทบาทเด่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับไม่ได้มีมิติที่น่าสนใจเท่าที่ควร รวมทั้งบทบางจุดที่แอบขี้โกงให้ผ่านไปได้แบบเล่นง่ายไปหน่อย

Aquaman and the Lost Kingdom ©2023 WARNER BROS. ENT.

แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม แม้หนังเรื่องนี้จะน่าเป็นห่วงในแง่ด้านพล็อต รวมถึงยังประสบปัญหาแบบเดียวกับตอน ‘The Flash’ ที่จริง ๆ แล้วตัวหนังโอเคเลย (ถ้าไม่นับ CGI บ้งนะ) แต่ด้วยดราม่าประเด็นกฏหมายของนักแสดงที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจยอมเสียเงินค่าตั๋ว รวมไปถึงภาพรวมของหนังซูเปอร์ฮีโรของทั้งวงการที่กำลังถึงจุดอิ่มตัว ปี 2024 ก็เลยเหลือหนังฮีโรในโปรแกรมน้อยมาก หรือในภาพรวมของค่าย DC เองที่สะสมชื่อเสียในแง่คุณภาพหนังจนขาดทุนยับเยิน 2-3 ปีติด ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อาจส่งผลให้ภาคนี้อาจไปได้ไม่ถึงฝั่งฝันก็ได้ คือตอนนี้ลุ้นเอาแค่ไม่ขาดทุนก็ถือว่าได้ชื่นใจแล้วล่ะ

แต่อย่างไรก็ตาม การดูหนังเรื่องนี้ในโหมดบันเทิงก็ยังนับว่าไม่ถึงกับผิดหวังนะครับ ถ้ามองในแง่หนังภาคต่อ ภาคนี้อาจไม่ได้สนุก ว้าว เพอร์เฟกต์ แบบภาคแรก ถ้ามองในแง่ของการเป็นภาคสุดท้าย และหนังเรื่องสุดท้ายของจักรวาล DCEU ก็อาจจะดูแห้ง ๆ จนไม่ใช่หนังภาคสุดท้ายที่จบแบบอิ่ม ๆ แต่ผู้เขียนเชื่อว่า นี่จะเป็นหนังที่ฝั่งคนดูจะชอบมากกว่านักวิจารณ์ (555) เป็นหนังแกล้มป๊อปคอร์นที่คนดูจะชอบในความจัดจ้านด้านบันเทิงครบรส ทั้งมุกตลก ฉากอลังการ แอ็กชันแรง ๆ ความบ้าพลังแบบ เจสัน โมโมอา ความเท่+ตลกหน้าตายแบบ แพตทริก วิลสัน ที่ยังมีอะไรให้ดูได้เพลิน ๆ ถ้าไม่ได้คาดหวังอะไรมากจนเกินไป


Aquaman and the Lost Kingdom ©2023 WARNER BROS. ENT.

Aquaman and the Lost Kingdom ©2023 WARNER BROS. ENT.
Aquaman and the Lost Kingdom | อควาแมน กับอาณาจักรสาบสูญ
คุณภาพด้านการแสดง
6.8
คุณภาพโปรดักชัน
7.5
คุณภาพของบทภาพยนตร์
4.7
ความบันเทิง
8.1
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.3
จุดเด่น
ภาพรวมยังคงรสชาติความบันเทิงจากภาคแรกเอาไว้ได้ครบ ทั้งเฮฮา แอ็กชัน แฟนตาซี ดราม่าครอบครัว ความดูง่าย
การเชื่อมโยงกับสภาวะอากาศและโลกร้อนในปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับโลกได้อย่างน่าสนใจ
การเพิ่มฉากแอ็กชันแรง ๆ แบบตัวต่อตัวมากขึ้น และยังมีฉากสมรภูมิใต้น้ำ
เจสัน โมโมอา แพตทริก วิลสัน เป็นคู่หูคู่กัดที่หล่อเลี้ยงหนังได้ดี
จุดสังเกต
บทที่ค่อนข้างเดาง่ายไม่ซับซ้อน แอบมีตัวช่วยขี้โกงไปนิด
การตัดต่อหนังแบบข้าม ๆ ที่ทำให้หนังมีจังหวะสะดุดจนทำให้ขาดอารมณ์ร่วม
การขับเน้นประเด็นดราม่าครอบครัว ภัยคุกคามชาวเมือง จังหวะมุกบางอันที่ยังไปได้ไม่สุด
7.1
Aquaman and the Lost Kingdom

The post [รีวิว] Aquaman and the Lost Kingdom: พ่อใหญ่เจ้าสมุทร งานบันเทิงสุดฉ่ำ แต่อารมณ์ร่วมแห้งแล้ง appeared first on #beartai.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า