ในช่วง 5 ปีให้หลังของวงการหนังไทย แม้จะมีอุปสรรคให้ล้มลุกคลุกคลาน ทั้งจากโรคระบาด ที่เดินทางมาถึงยุคของสงครามสตรีมมิงที่มีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกชมหนังสักเรื่องของผู้ชมอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้ทำให้วงจรอุตสาหกรรมหนังไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถึงกับหืดจับไม่น้อย

แม้ 10 อันดับแรกของหนังไทยที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่ยังคงเป็นของ 2 ค่ายใหญ่แห่งยุค ทั้งค่าย GDH และสหมงคลฟิล์ม แต่หากพิจารณาถึงความหลากหลายของความคิดสร้างสรรค์ ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อยที่เราได้เห็นความหลากหลายของหนังไทยที่และมีชั้นเชิงกว่าหนังแนว ‘ผี-ตลก’ อย่างที่วงการหนังไทยเคยโดนสบประมาทมานานนับ 10 ปี เสมือนเป็นตัวเร่งชั้นดีให้ค่ายหนังเล็ก ๆ ได้มีที่ทางขึ้นมาในอุตสาหกรรมหนังไทยได้สำเร็จ และทำให้ค่ายหนังใหญ่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมที่ไม่มีอะไรง่ายอีกต่อไป

ยกตัวอย่างก็เช่น ค่ายเนรมิตรหนังฟิล์ม ที่ขยันนำเสนอหนังไทยแนวทางใหม่ ๆ ทั้งหนังสัตว์ประหลาด หนังนักเลง ฯลฯ ออกมาให้ได้ตื่นเต้นอยู่ตลอด รวมทั้งค่าย เซิ้ง เจ้าของจักรวาลไทบ้าน ที่ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สร้าง ไทบ้าน Cinematic Universe สร้างจักรวาลหนังจังหวะอีสานในแบบของตนเองจนโดดเด่นและมีที่ทางเป็นของตัวเองชัดเจน พิสูจน์ได้จากหนังเรื่องล่าสุดอย่าง ‘สัปเหร่อ’ ที่ทำรายได้ (ตัวเลขประมาณการทั่วประเทศ) ไปแล้วกว่า 225 ล้านบาท (บันทึก ณ วันที่ 18 ตุลาคม) และคาดว่าน่าจะแตะหลัก 300 ล้านบาทได้ในเวลาอันใกล้

บทความนี้เป็นการอัปเดต 10 อันดับหนังไทยที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาล (รวมทั้งหนังไทย 25 อันดับแรกที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท) ที่นับจากนี้เชื่อว่าอันดับรายได้จะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกนับไม่ถ้วน ตราบใดที่คนไทยยังคงอุดหนุนหนังไทย และหนังไทยยังคงมีคุณภาพต่อไปอีกนานเท่านาน


หมายเหตุ: รายได้ของหนังไทยในบทความนี้ทั้ง 25 อันดับ เป็นการเรียงลำดับจากรายได้เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ มีเพียงหนังบางเรื่องที่มีการเปิดเผยรายได้ประมาณการจากการฉายทั่วประเทศ


อันดับที่ 10
‘นาคี ๒’ (2561)
นาคี2

รายได้: 161.19 ล้านบาท (รายได้ประมาณการทั่วประเทศ 417.55 ล้านบาท)
ค่ายผู้สร้าง: ดู เอ็นเตอร์เทนเม้นท์/เอ็ม พิคเจอร์ส
ผู้กำกับ: พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
นักแสดง: ณฐพร เตมีรักษ์, ณเดชน์ คูกิมิยะ, อุรัสยา เสปอร์บันด์, ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค, สมพงษ์ คุนาประถม, ปอยฝ้าย มาลัยพร
เรื่องย่อ: สร้อย สาวดอนไม้ป่า ผู้เติบโตและผูกพันในความเชื่อและศรัทธาต่อเจ้าแม่นาคี ต้องพบเจอกับคดีสะเทือนขวัญและเงื่อนงำปริศนา หลังจากที่ ร.ต.อ.ป้องปราบ ได้ย้ายเข้ามาประจำการที่ สภ.ดอนไม้ป่า ชาวบ้านปักใจเชื่อว่าคดีเหล่านั้นเกิดจากฝีมือของเจ้าแม่นาคีที่ออกมาอาละวาด ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าสร้อยคือร่างทรงของเจ้าแม่นาคี ร.ต.อ.ป้องปราบ ผู้ไม่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ จึงต้องออกค้นหาความจริงในคดีอันลึกลับนี้


อันดับที่ 9
‘บุพเพสันนิวาส ๒’ (2565)
บุพเพสันนิวาส 2

รายได้: 170.19 ล้านบาท (รายได้ประมาณการทั่วประเทศ 393 ล้านบาท)
ค่ายผู้สร้าง: จีดีเอช/บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น
ผู้กำกับ: อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม
นักแสดง: ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ, ราณี แคมเปน, พาริส อินทรโกมาลย์สุต, ชานน สันตินธรกุล, ปวีณ์นุช แพ่งนคร, นิมิตร ลักษมีพงศ์, สุวัจนี พานิชชีวะ
เรื่องย่อ: เมื่อครั้งสมัยอยุธยา พี่หมื่น และเกศสุรางค์ ครองรักครองเรือนจนตายจาก ทั้งคู่ได้มีโอกาสกลับชาติมาเกิดใหม่อีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พี่หมื่นมาเกิดเป็น ภพ และได้พบรักกับเกสร หรือเกศสุรางค์ สาวหัวก้าวหน้าในชาติภพใหม่ ทั้งคู่ และเมธัส ไอ้หนุ่มหน้าฝาหรั่งหลงยุค ต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุบ้านการเมืองสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ของนายห้างหันแตร ที่อาจทำให้หน้าประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยนแปลงไป


อันดับที่ 8
‘ต้มยำกุ้ง’ (2548)
ต้มยำกุ้ง

รายได้: 183.35 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/บาแรมยู
ผู้กำกับ: ปรัชญา ปิ่นแก้ว
นักแสดง: ทัชชกร ยีรัมย์, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, บงกช คงมาลัย
เรื่องย่อ: ไอ้ขาม เด็กหนุ่มบ้านนอกที่ต้องออกเดินทางข้ามโลก หลังจากที่ผู้มีอิทธิพลระดับประเทศได้ลักพาช้างพลาย 2 พ่อลูกที่เขารักดังชีวิตไปขาย ณ ประเทศออสเตรเลีย เขาจึงต้องบุกตะลุยตามล่าหาช้างไปถึงรังของแก๊งมาเฟียที่นำโดย มาดามโรส ผู้มีลิ่วล้อเก่งกาจด้านการต่อสู้ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก จ่ามาร์ค ตำรวจไทยในออสเตรเลีย และปลา สาวไทยที่ถูกหลอกมาขายตัวในซิดนีย์ ขามจึงต้องใช้แม่ไม้มวยไทยบทใหม่ที่เรียกว่า ตำนานมวยคชสาร เข้าจัดการเพื่อชิงช้างกลับมายังบ้านเกิดให้ได้


อันดับที่ 7
‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 ยุทธนาวี’ (2554)
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3 ยุทธนาวี

รายได้: 202.9 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: พลตรีวันชนะ สวัสดี, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, นพชัย ชัยนาม, อินทิรา เจริญปุระ, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, สรพงษ์ ชาตรี, ดอม เหตระกูล, นภัสกร มิตรเอม, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, อคัมย์สิริ สุวรรณศุข, ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, ปราบต์ปฏล สุวรรณบาง
เรื่องย่อ: ปีพุทธศักราช 2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระนเรศ ได้สังหารสุรกำมา เหนือยุทธภูมิฝั่งน้ำสะโตง และประกาศเอกราชที่เมืองแครงสร้างความตระหนกแก่ พระเจ้านันทบุเรง องค์ราชันหงสาวดี ด้วยเกรงว่า การแข็งข้อของกรุงศรีอยุธยาจะเป็นเยี่ยงอย่างแก่ประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดี แต่ด้วยติดพันศึกอังวะ จึงส่งทัพพระยาพะสิม และพระเจ้าเชียงใหม่ เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ด้วยความประมาทเพราะเห็นสมเด็จพระนเรศยังอ่อนพระเยาว์ และกรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำจากคราวเสียกรุง


อันดับที่ 6
‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี’ (2557)
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 5 ยุทธหัตถี

รายได้: 206.86 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: พลตรีวันชนะ สวัสดี, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, นพชัย ชัยนาม, อินทิรา เจริญปุระ, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, สรพงษ์ ชาตรี, ดอม เหตระกูล, นภัสกร มิตรเอม, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, เกรซ มหาดำรงค์กุล, วินธัย สุวารี, ชลิต เฟื่องอารมย์
เรื่องย่อ: พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงพ่ายต่อการศึกกับพระนเรศ จึงระบายความแค้นต่อองค์พระสุพรรณกั­ลยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดาทราบค­วามก็ให้โทมนัส ด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระ­ราชธิดาและแผ่นดินอยุธยาที่ถูกกระทำการย่ำ­ยีก็ด้วยเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้­างศัตรู จนตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศฯ จึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติค­รองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา พระมังสาม­เกียด หรือพระมังกะยอชวา พระมหาอุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพ นำกองทัพทหาร 240,000 นายมาตีกรุงศรีอยุธยา ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร จึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วขอให้กระทำการยุทธหัตถี ท้ายที่สุดสมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมังสามเกียด พระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง


อันดับที่ 5
‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ’ (2550)
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช-2-ประกาศอิสรภาพ

รายได้: 216.87 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์, จิรายุ ละอองมณี, สุชาดา เช็คลีย์, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, สมภพ เบญจาธิกุล, สรพงศ์ ชาตรี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, สันติสุข พรหมศิริ
เรื่องย่อ: หลังจากพระองค์ดำหรือพระนเรศ หนีกลับพระพิษณุโลกสองแควได้แล้วนั้น พระองค์ได้เจริญชันษาขึ้นและกลายเป็นอุปราชผู้รั้งเมืองพระพิษณุโลกสองแควแทนพระราชบิดา ส่วนมหาอุปราชานันทบุเรงขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้านันทบุเรง สืบต่อจากพระเจ้าบุเรงนองที่เสด็จสวรรคต พระเจ้านันทบุเรงจึงมีพระบรมราชโองการให้อุปราชของ 3 เมือง คือ พระนเรศวร, นัดจินหน่อง อุปราชเมืองตองอู และพระมหาอุปราชามังสามเกียด ยกทัพไปปราบเมืองคัง พระนเรศวรสามารถตีเมืองคังได้สำเร็จ สร้างความแค้นเคืองให้พระมหาอุปราชามังสามเกียด พระนเรศวรได้กระทำพิธีหลั่งน้ำทักษิโณทก เพื่อประกาศว่าพระพิษณุโลกสองแคว จักไม่ขึ้นตรงต่อหงสาวดีอีกต่อไป


อันดับที่ 4
‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา’ (2550)
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 1 องค์ประกันหงสา

รายได้: 236.7 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์, จิรายุ ละอองมณี, สุชาดา เช็คลีย์, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, สมภพ เบญจาธิกุล, สรพงศ์ ชาตรี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, สันติสุข พรหมศิริ
เรื่องย่อ: พุทธศักราช 2106 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก พระมหาธรรมราชาจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกับพระเจ้าบุเรงนองเพื่อร่วมกันโจมตีอยุธยา โดยที่พระเจ้าบุเรงนองได้ขอเอาตัวพระนเรศ หรือองค์ดำ พระโอรสองค์โตในพระมหาธรรมราชาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ ไปเป็นองค์ประกันในหงสาวดี องค์ดำกลายเป็นศิษย์เอกของพระมหาเถรคันฉ่อง พระประจำพระองค์ของพระเจ้าบุเรงนอง และทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์


อันดับที่ 3
‘สุริโยไท’ (2544)
สุริโยไท

รายได้: 324.5 ล้านบาท (รายได้ประมาณการทั่วประเทศ 550 ล้านบาท)
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จอนนี่ แอนโฟเน่, ใหม่ เจริญปุระ, สรพงษ์ ชาตรี, อำพล ลำพูน
เรื่องย่อ: หนังเล่าเรื่องพระประวัติของพระสุริโยไท พระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ และวีรกรรมการเสียสละไสช้างเพื่อสละชีพแทนพระสวามี จนอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้างกลางสมรภูมิยุทธหัตถี ณ ทุ่งมะขามหย่อง กลายเป็นหนึ่งของวีรกรรมความกล้าที่ถูกเล่าขานบนหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย


อันดับที่ 2
‘ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้’ (2557)
ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้

รายได้: 330.55 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม
ผู้กำกับ: เมษ ธราธร
นักแสดง: ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, ปรีชญา พงษ์ธนานิกร, ภพธร สุนทรญาณกิจ, โจ๊ก โซคูล, กุลญาดา ตาวิยะ, ตุ๊ยตุ่ย พุทธชาด, โซระ อาโออิ
เรื่องย่อ: เพลง ติวเตอร์ภาษาอังกฤษสาวสวยต้องหัวจะปวด เมื่อลูกศิษย์ต่างชาติของเธอกำลังจะตัดสินใจเลิกกับยิม แฟนหนุ่มคนไทย ช่างเทคนิคในโรงงานผู้มีทักษะภาษาอังกฤษต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เพื่อเดินทางไปอเมริกา ยิมจึงใช้แรงโกรธไปสมัครเรียนภาษาอังกฤษเพื่อไปตามง้อแฟนถึงอเมริกา ก่อนที่ทั้งคู่จะค่อย ๆ เพิ่มพูนความรู้สึกดี ๆ ต่อกันโดยไม่รู้ตัว


อันดับที่ 1
‘พี่มาก..พระโขนง’ (2556)
พี่มากพระโขนง

รายได้: 559.59 ล้านบาท (รายได้ประมาณการทั่วประเทศ 1,000 ล้านบาท)
ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม
ผู้กำกับ: บรรจง ปิสัญธนะกูล
นักแสดง: มาริโอ้ เมาเร่อ, ดาวิกา โฮร์เน่, พงศธร จงวิลาส, ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์, อัฒรุต คงราศรี, กันตพัฒน์ สีดา
เรื่องย่อ: ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เกิดเหตุสงคราม ทำให้ชาวบ้านต้องถูกเกณฑ์ไปรบ มาก ผัวหนุ่ม จำต้องทิ้งนาก เมียสาวท้องแก่ไว้กับบ้านเพื่อไปร่วมศึก เขาได้พบเจอกับเพื่อนสนิท เต๋อ เผือก ชิน และ เอ จนเมื่อกลับมาบ้าน มีข่าวลือว่านากกลายเป็นผีตายทั้งกลมไปแล้ว เพื่อนทั้ง 4 คนจึงต้องแอบบอกความจริงเรื่องนี้ให้มากได้ล่วงรู้


15 อันดับหนังไทย รายได้เกินหลัก 100 ล้านบาท

อันดับที่ 11 ‘4 KINGS อาชีวะ ยุค 90’ (2564) (เนรมิตรหนังฟิล์ม) 170 ล้านบาท (ทั่วประเทศ)
อันดับที่ 12 ‘หลวงพี่แจ๊ส 4G’ (2559) (ฟิล์มกูรู โปรดักชั่น) 154.27 ล้านบาท
อันดับที่ 13 ‘ATM เออรัก เออเร่อ’ (2555) (จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 152.5 ล้านบาท
อันดับที่ 14 ‘บางระจัน’ (2543) (ฟิล์มบางกอก) 151 ล้านบาท
อันดับที่ 15 ‘นางนาก’ (2542) (ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์) 149.6 ล้านบาท
อันดับที่ 16 ‘น้อง.พี่.ที่รัก’ (2561) (จีดีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 149 ล้านบาท (ทั่วประเทศ 244.77 ล้านบาท)
อันดับที่ 17 ‘รถไฟฟ้า มาหานะเธอ’ (2552) (จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 145.82 ล้านบาท
อันดับที่ 18 ‘หลวงพี่เท่ง’ (2548) (พระนครฟิลม์) 141.86 ล้านบาท
อันดับที่ 19 ‘ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค’ (2562) (จีดีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 140.02 ล้านบาท (ทั่วประเทศ 285 ล้านบาท)
อันดับที่ 20 ‘แฟนฉัน’ (2546) (จีเอ็มเอ็ม พิกเจอร์ส/หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม/ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์) 137.3 ล้านบาท
อันดับที่ 21 ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4 ศึกนันทบุเรง’ (2554) (สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น) 133.2 ล้านบาท
อันดับที่ 22 ‘กวน มึน โฮ’ (2553) (จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 131.04 ล้านบาท
อันดับที่ 23 ‘Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน’ (2562) (จีดีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 130.08 ล้านบาท (ทั่วประเทศ 220 ล้านบาท)
อันดับที่ 24 ‘สุดเขตสเลดเป็ด’ (2553) (เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์) 125.03 ล้านบาท
อันดับที่ 25 ‘มือปืน/โลก/พระ/จัน’ (2544) (อาร์เอส ฟิล์ม) 123 ล้านบาท


ที่มา: Wikipedia, Thailand Box Office, Theaterist

The post เปิดลิสต์ 10 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาล (ฉบับอัปเดต 2566) appeared first on #beartai.

You may have missed

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า