หากใครที่ได้มีโอกาสชม ‘Indiana Jones and the Last Crusade’ (1989) ภาคที่ 3 ของหนังแฟรนไชส์ ‘Indiana Jones’ แล้วก็น่าจะยังคงจำเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากทุกภาค ก็คือในภาคนี้จะไม่ใช่แค่เรื่องราวของการผจญภัยตามหาสมบัติล้ำค่าในตำนานอย่างเดียว แต่ยังเป็นภาคแรกที่เราจะได้เห็นเรื่องราวปูมหลังของอินเดียนา โจนส์ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่มีตัวตนอีกด้านในฐานะนักล่าสมบัติจอมอัจฉริยะที่พร้อมลุยเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งล้ำค่าตกไปอยู่ในมือของวายร้าย

ซึ่งสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคนี้อย่างชัดเจนก็คือ การเปิดเรื่องด้วยเรื่องราวการผจญภัยของอินดี้ ลูกเสือหนุ่มน้อย ที่รับบทโดย ริเวอร์ ฟีนิกซ์ (River Phoenix) ที่อยู่ดี ๆ ก็หาทำจนเกิดเป็นการผจญภัยตั้งแต่วัยแรกรุ่น รวมทั้งความเหินห่าง และความผูกพันของอินดี้ กับ เฮนรี โจนส์ ซีเนียร์ พ่อของเขา ที่รับบทโดย ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) ที่ต้องร่วมกันออกตามหาเบาะแสของจอกศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเบาะแสโยงไปถึงสมัยสงครามครูเสด และมีอัศวิน 3 พี่น้องคอยปกปักรักษาเอาไว้ ว่ากันว่า ใครที่ได้ดื่มน้ำพุด้วยจอกศักดิ์สิทธิ์ จะเป็นอมตะ และปัดเป่าโรคภัยทั้งปวงได้สารพัด

ซึ่งนี่ก็คือเรื่องย่อของ ‘Indiana Jones 3’ ที่ถูกเล่าเอาไว้ในหนัง (สามารถรับชมแบบเต็ม ๆ ได้ที่ Disney+Hotstar) แต่เบื้องหลังกว่าจะได้เรื่องราวสนุกสนานและกอบกู้ชื่อเสียงของสปีลเบิร์ก และแฟรนไชส์นี้กลับมาได้อีกครั้งนั้น หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า บทร่างแรกของภาคนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับจอกศักดิ์สิทธิ์ หรือเรื่องราวของพ่อกับลูกนักล่าสมบัติแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องราวของ อินเดียนา โจนส์ ที่ต้องพบเจอกับราชาวานร ที่ได้แรงบันดาลใจจากซุนหงอคง หรือ เห้งเจีย เทพเจ้าผู้ได้รับฉายานามจากเง็กเซียนฮ่องเต้ว่า ‘ฉีเทียนต้าเซิ่น’ (齊天大聖 – ผู้ยิ่งใหญ่เสมอฟ้าดิน) ตัวละครจากเทพนิยาย ‘ไซอิ๋ว’ ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนี่แหละ

เห้งเจีย ซุนหงอคง

เบื้องหลังของหนังเรื่องนี้แต่แรกเริ่ม ต้องย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) โปรดิวเซอร์ผู้ให้กำเนิดแฟรนไชส์ และผู้กำกับอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ได้ตัดสินใจเปลี่ยนโทนเรื่องราวของภาคก่อนหน้า ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ (1984) จากโทนหนังในแบบเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดีแบบที่สปีลเบิร์กถนัด ไปสู่การนำเสนอด้วยความดาร์ก จนผู้ปกครองพากันบ่นอุบว่ามุกมันดาร์กเกินกว่าจะให้เด็กดู รวมทั้งเนื้อเรื่องที่ถูกวิจารณ์ว่าสนุกน้อยกว่าภาคแรก

ทำให้ในภาค ‘The Last Crusade’ ที่กำลังจะสร้างนี้ นอกจากจะเป็นการทำตามสัญญาที่สปีลเบิร์กและลูคัสได้ตบปากรับคำกันเอาไว้ว่าจะกำกับหนังชุดนี้ให้ครบ 3 ภาค ตามที่เคยได้วางแผนกันไว้ ก็ยังเป็นความต้องการของผู้กำกับหนุ่มในเวลานั้น ที่หวังจะแก้มือด้วยการนำเอากลิ่นอาย รวมทั้งจังหวะความสนุกสนานบันเทิงแบบในภาคแรกกลับมาให้จงได้ รวมทั้งเสมือนเป็นการไถ่โทษความรู้สึกผิดฝังใจ ที่เขาเลือกที่จะทำภาคที่แล้วให้ออกมาหม่นดาร์ก ซึ่งภายหลังสปีลเบิร์กเองก็เผยว่า เขาเองชอบภาคนี้น้อยที่สุดจากบรรดาทุก ๆ ภาคที่เขาเคยกำกับ

แต่ไอเดียแรก ๆ ก็ยังไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตำนานราชาวานรของจีน แต่มีไอเดียอื่น ๆ ที่ลูคัสวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า แต่ไม่ได้เอามาใช้จริง ทั้งพล็อตเกี่ยวกับบ้านผีสิง พล็อตเกี่ยวกับวิญญาณ ที่สปีลเบิร์กบอกปัดไปเพราะมันซ้ำทางกับหนัง ‘Poltergeist’ (1982) ที่เขาเคยเขียนบทมากไปหน่อย ส่วนพล็อตเกี่ยวกัยเด็กน้อย ก็ซ้ำทางกับภาค ‘Temple of Doom’ ไปอีก อีกไอเดียที่ลูคัสสนใจและวางไว้แต่แรกก็คือ การหยิบตำนานจอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Grail) จากตำนานความเชื่อเรื่องพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ของพระเยซูคริสต์มาตีความใหม่

Indiana Jones and the Last Crusade

แต่ก็เป็นสปีลเบิร์กที่ไม่สนใจไอเดียนี้ เพราะเขามองว่ามันลึกลับเกินไป และไม่น่าสนใจตรงที่ให้จอกศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงแค่ ‘สิ่งล้ำค่า’ ชิ้นใหม่ เพื่อให้ อินเดียนา โจนส์ ออกไปตามหาเฉย ๆ นอกจากนี้ก็ยังกลัวจะซ้ำทางกับหนังตลก ‘Monty Python and the Holy Grail’ (1975) ที่เคยหยิบตำนานนี้ไปยำใหม่แล้วเมื่อ 15 ปีก่อน

จนกระทั่งสปีลเบิร์กนี่แหละที่เป็นคนปิ๊งไอเดียที่จะให้อินดี้ ได้ออกไปผจญภัยกับราชาวานร ที่ได้แรงบันดาลใจจากตำนานซุนหงอคงของจีนมาดัดแปลง เนื่องจากสปีลเบิร์กเห็นว่าซุนหงอคงนั้นเป็นตัวละครที่มีความโดดเด่นในฐานะของเทพเจ้าที่มีความสามารถ มีลูกเล่น และมีความซุกซน ขี้เล่น มีความแหกกฏ มีความเป็นเด็กในร่างผู้ใหญ่ ที่น่าจะทำให้ตัวหนังเต็มไปด้วยจินตนาการและความสนุกสนานที่ (น่าจะ) เข้าถึงได้สำหรับทุกคน

สปีลเบิร์กจึงได้นำเสนอไอเดียนี้เพื่อเตรียมเขียนบทภาพยนตร์ต่อไป ซึ่งลูคัสเองก็เป็นคนรับหน้าที่เขียนทรีตเมนต์ความยาว 8 หน้า ก่อนจะขยายโครงเรื่องขึ้นมาเป็น 11 หน้า ในชื่อ ‘Indiana Jones and the Monkey King’ หลังจากนั้น สปีลเบิร์กจึงได้ว่าจ้างให้ คริส โคลัมบัส (Chris Columbus) เจ้าของผลงานเขียนบทหนัง ‘Gremlins’ (1984), ‘The Goonies’ (1985) และผู้กำกับหนังแฟรนไชส์ ‘Home Alone’ มารับหน้าที่เขียนบทให้ในภาคนี้ออกมาเป็นบทภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์

เรื่องราวโดยย่อของ ‘Indiana Jones and the Monkey King’ ร่างแรกที่โคลัมบัสเขียนขึ้น เริ่มต้นที่ประเทศสกอตแลนด์ในปี 1937 อินเดียนา โจนส์ ที่กำลังพักผ่อนด้วยการตกปลา ต้องเข้าไปสืบสวนพัวพันในคดีฆาตกรรมลึกลับ ที่มีวิญญาณของ บารอน ซีมัส ซีโกรฟที่ 3 เป็นผู้ก่อเหตุ อินดี้จึงต้องออกโรงต่อสู้กับวิญญาณฆาตกรในคฤหาสน์ผีสิง

จนกระทั่งเขาได้รับการติดต่อจาก มาร์คัส โบรดี เพื่อนสนิทของโจนส์ทั้งรุ่นพ่อและรุ่นลูก ที่ได้แนะนำให้อินดี้รู้จักกับ แคลร์ คลาร์ก นักสัตววิทยาสาว ผู้ค้นพบคนแคระชาวเผ่าปิกมี (Pygmy) อายุ 200 ปีที่มีชื่อว่า ไทกิ

ไทกิเป็นผู้ทราบตำแหน่งของเมืองลึกลับที่หายสาบสูญ ที่ว่ากันว่ามีราชาวานรผู้ยิ่งใหญ่อาศัยอยู่ และในเมืองแห่งนั้นก็ยังมีผลท้อศักดิ์สิทธิ์ ที่หากผู้บริสุทธิ์ใจได้กัดกิน ก็จะทำให้มีชีวิตที่เป็นอมตะ ตรงข้าม หากคนชั่วได้กินเข้าไปก็จะถูกคร่าชีวิต อินดี้ คลาร์ก และไทกิ จึงได้เดินทางไปยังประเทศโมซัมบิก ที่นั่นเขาได้เจอกับสแครกกี มัคคุเทศน์เพื่อนเก่าของอินดี้ และ เบ็ตซี หญิงสาวผู้ช่วยอาจารย์ที่ตกหลุมรักอินดี้อย่างโงหัวไม่ขึ้น

ไทกิกลายเป็นเป้าหมายของทหารนาซี ที่นำโดย ร้อยโทเมฟิสโต และสิบเอกกัตเทอร์บัค ที่มีแขนเป็นปืนกล ที่พยายามจะไล่ล่าจับตัวไทกิ เพื่อนำไปสู่เบาะแสของลูกท้อศักดิ์สิทธิ์ อินดี้จึงได้ออกโรงช่วยเหลือไทกิกลับมาได้อย่างปลอดภัย ไทกิจึงชี้ทางให้อินดี้และพรรคพวกเดินทางไปยังเมืองลึกลับ ด้วยการล่องไปตามแม่น้ำที่มีชื่อว่าซัมเบซีของโมซัมบิก

ในระหว่างนั้น พวกเขาก็ได้พบกับราชาโจรสลัดที่มีชื่อว่า เคซึเระ และชนเผ่าแอฟริกันที่กินเนื้อคน ก่อนที่จะเดินทางมาถึงยังตำแหน่งที่ตั้งของเมืองโบราณ ในระหว่างนั้น พวกเขาได้ถูกฝูงกอริลลาผู้ปกป้องเมืองบุกเข้าจู่โจม พวกมันจับอินดี้เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาพร้อมกับรื้อหมวก แส้ เสื้อผ้าเอาไปใส่เล่น ส่วนกอริลลาจอมโมโหตัวสุดท้าย ก็หมายเตรียมจะโยนร่างของเขาจากภูเขา

ไทกิจึงได้ตะโกนลั่นป่าเพื่อห้ามเอาไว้ ก่อนที่อินดี้และพรรคพวกจะทราบว่า ไทกินั้นไม่ใช่แค่ชาวเผ่าธรรมดา ๆ แต่มีศักดิ์เป็นถึงเจ้าชายวานร บุตรของซุนหงอคง ราชาวานรผู้ได้รับบัญชาจากสรวงสวรรค์ให้ปกครองเมืองอายุหลายร้อยปี และคอยดูแลสวนท้อศักดิ์สิทธิ์บนโลกมนุษย์

Indiana Jones and the Last Crusade

ในระหว่างนั้น ทหารนาซีก็บุกมาถึงเมืองราชาวานรจนได้ อินดี้ได้บุกเข้าต่อสู้กับนาซีจนสุดกำลัง แม้นาซีจะพ่ายราบคาบ แต่โชคร้ายที่อินดี้ถูกร้อยโทเมฟิสโตสังหารจนสิ้นชีพ ไทกิจึงได้นำร่างของอินดี้เข้าไปในสวนที่มีลูกท้อศักดิ์สิทธิ์ในตำนาน และได้ใช้ผลท้อศักดิ์สิทธิ์ในการชุบชีวิตอินดี้ ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ผลท้อจึงได้ช่วยให้อินดี้ฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง ส่วนเคซึเระก็ได้กินผลท้อเช่นกัน แต่กลับต้องตายเพราะจิตใจที่ไม่บริสุทธิ์

สุดท้าย ซุนหงอคงได้มอบกระบองทองคำของตนให้แก่อินเดียนา โจนส์ เป็นการตอบแทนในการช่วยปกป้องเมืองให้รอดพ้นจากอันตราย กระบองนี้จะช่วยสามารถปกป้องคุ้มครองให้อินดี้รอดพ้นจากอันตรายได้ ในขณะที่เบ็ตซีก็ตาสว่าง เลิกคลั่งรักอินดี้ ก่อนที่จะตัดสินใจอยู่กับคลาร์กเพื่อเรียนรู้การเป็นนักสัตววิทยาต่อไป

คลิกเพื่ออ่านบทภาพยนตร์ ‘Indiana Jones and the Monkey King’ ร่างแรกฉบับเต็ม

แม้สปีลเบิร์กเองจะชอบเรื่องราวที่โคลัมบัสเขียนขึ้น แต่สุดท้ายผู้กำกับหนุ่มก็รู้สึกว่าพล็อตที่โคลัมบัสเขียนมานั้นหลุดจากจินตนาการของเขาไปมากพอสมควร สปีลเบิร์กรู้สึกว่าพล็อตเรื่องมันเชยและแก่เกินกว่าที่เขาอยากจะกำกับ นอกจากนี้ การดัดแปลงตำนานซุนหงอคงให้ไปอยู่ในทวีปแอฟริกา ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อชาวแอฟริกาได้ รวมทั้งเรื่องราวที่ดูเหนือธรรมชาติมากเกินไป จึงได้มีการพยายามปรับบทอีกเล็กน้อย มีตั้งแต่การปรับเอาตัวละครเบ็ตซีออกไป ปรับให้ซุนหงอคงเป็นวายร้าย มีฉากที่ซุนหงอคงบังคับให้อินดี้เล่นหมากรุกมนุษย์ ส่วนอินดี้ก็ต้องบุกไปทำลายกระบองของซุนหงอคง ก่อนที่จะจบลงด้วยการแต่งงานกับคลาร์กในฉากจบ

แน่นอนว่างานนี้เล่นเอาสปีลเบิร์กถึงกับหัวจะปวด จึงได้เริ่มต้นรื้อไอเดียเก่า ๆ ที่น่าจะใช้ได้กลับมา ซึ่งลูคัสเองก็เลยโยนไอเดียเรื่องจอกศักดิ์สิทธิ์กลับเข้ามาในวงประชุมอีกครั้ง ในขณะที่สปีลเบิร์กเองก็ได้เสนอแนะให้มีปมเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อและลูก ตามแบบฉบับของหนังสปีลเบิร์กแทบทุกเรื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดเผยเรื่องราวของอินดี้ที่ไม่เคยถูกเล่าในภาคก่อน ๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของพ่อกับลูก ทั้งความเหินห่างระหว่างเด็กหนุ่มกับพ่อผู้บ้างาน และการตามหาพ่อที่หายสาบสูญไปจากการออกตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ การแทรกมุมความเป็นเด็กให้กับอินดี้ที่มีความเป็นผู้ชายมาตลอด ถือเป็นตัวชูรสให้การผจญภัยตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ และน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ (ที่เปลี่ยนมาจากผลท้อ) มีความน่าสนใจกว่าเดิม

เมื่อตกลงปลงใจว่าเรื่องราวจะเดินไปในแนวทางนี้ ทั้งสปีลเบิร์กและลูคัสจึงได้ว่าจ้างให้ เมนโน เมย์เยส (Menno Meyjes) ผู้เขียนบทที่เคยร่วมงานกับสปีลเบิร์กมาแล้วใน ‘The Color Purple’ (1985) มาเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์จากไอเดียตั้งต้น และให้ เจฟฟรีย์ โบม (Jeffrey Boam) ผู้เขียนบทหนัง ‘Innerspace’ (1987) มารับหน้าที่แก้ไขบทในฉบับไฟนอล

Indiana Jones and the Last Crusade

และได้ ทอม สตอปพาร์ด (Tom Stoppard) มือเขียนบท ‘Empire of the Sun’ (1987) ที่ใช้นามปากกา แบร์รี วัตสัน (Barry Watson) มารับหน้าที่แก้ไขบทแบบไม่ได้รับเครดิต โดยสตอปพาร์ดเข้ามาทำหน้าที่ชัดเกลาไดอะล็อก รวมทั้งยังเป็นคนเขียนบทฉากอินดี้ในวัยเด็ก เนื่องจากทีแรกสปีลเบิร์กเองไม่อยากใส่ฉากนี้เข้าไป เพราะเคยกำกับหนังที่มีเด็กมาแล้วใน ‘Empire of the Sun’ แต่สุดท้ายฉากดังกล่าวก็ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลัง รวมทั้งบทฉากไคลแมกซ์จอกศักดิ์สิทธิ์ท้ายเรื่องด้วย

ซึ่งในที่สุด หลังจากที่สปีลเบิร์กสามารถเกลี้ยกล่อมให้ดาราตำนาน ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) มารับบทเป็นพ่อของอินเดียนา โจนส์ ได้สำเร็จ แม้จริง ๆ แล้วคอนเนอรีจะอายุห่างจาก แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) แค่ 1 รอบ หรือ 12 ปีเท่านั้น ด้วยเหตุผลของสปีลเบิร์กที่ต้องการให้มีหนังมีกลิ่นอายความเป็นหนังสายลับ เจมส์ บอนด์ อย่างที่เขาอยากจะกำกับมาตั้งแต่แรก

ทำให้ในท้ายที่สุดเรื่องราวของ ‘Indiana Jones and the Last Crusade’ ก็ไม่ใช่เรื่องราวกาว ๆ ของอินดี้ที่ต้องปะทะกับเห้งเจีย แต่เป็นเรื่องราวของพ่อลูกนักล่าสมบัติ และตำนานจอกศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งลุ้น ทั้งตื่นเต้น ฟีลกู้ด ชวนให้นึกถึงภาคแรก ‘Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark’ (1981) และ

ที่สำคัญตัวหนังสามารถกู้ชื่อให้กับสปีลเบิร์กได้สำเร็จจากคำชมและรายได้ที่ล้นหลาม และเป็นภาคที่สามารถกู้ชื่อเสียงของแฟรนไชส์ จากหนังโทนดาร์กที่เคยถูกยี้ สู่แฟรนไชส์หนังแอ็กชันบันเทิงที่ยืนยงมายาวนานตลอด 42 ปีจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: Screen Rant, Mental Fross, Wikipedia, Daily Script

The post สคริปต์ ‘Indiana Jones 3’ เวอร์ชันแรกที่ไม่เคยถูกใช้ ได้แรงบันดาลใจจากราชาวานร ‘เห้งเจีย’ appeared first on #beartai.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า